วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คำพ่อสอน


              วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทางราชการได้กำหนดให้เป็น วันพ่อแห่งชาติซึ่งพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยเพื่อพสกนิกรชาวไทยของพระองค์มาโดยตลอด จึงขอน้อมนำเอาพระบรมราชดำรัสบางช่วง บางตอน ที่เกี่ยวกับ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย มานำเสนอในยุคสมัยวัตถุนิยม...
                   ...ในสมัยปัจจุบันอาชีพเพาะปลูกนี้มีความสำคัญมาก เพราะการเพาะปลูกนี้เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์ ถ้าเราไม่มีการเพาะปลูกก็จะไม่มีวัตถุดิบที่จะมาเป็นอาหาร หรือเป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือเป็นสิ่งก่อสร้าง ฉะนั้นต้องทำการกสิกรรม...
                   (พระราชดำรัสพระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์นิคม ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่พฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑)
                   ...ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาการทดลองและทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากอยู่มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่าง ๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสันอีก ประการหนึ่ง ที่นานั้นเมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้ว ควรปลูกพืชอื่น ๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจำทำนาในฤดูต่อไป....
                   (พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชพระราชทานแก่กลุ่มชาวนา  พฤษภาคม ๒๕๐๔)
                   ....ข้าวต้องปลูก เพราะอีก ๒๐ ปี ประชากรอาจจะ ๘๐ ล้านคน ข้าวจะไม่พอถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก...
(พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จพระราชดำเนิน
ทอดพระเนตร โครงการโคกกูแวจังหวัดนราธิวาส พ.ศ.๒๕๓๖)
...ธนาคารข้าวให้มีคณะกรรมการควบคุมที่คัดเลือกจากราษฎรในหมู่บ้าน เป็นผู้เก็บ
รักษา พิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับข้าวคืน ตลอดจนจัดทำบัญชีทำการของธนาคารข้าว ราษฎรที่ต้องการข้าวไปใช้บริโภคยามจำเป็นให้คงบัญชียืมข้าวไปใช้จำนวนหนึ่ง..
                   เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้วก็นำมาคืนธนาคาร พร้อมด้วยดอกเบี้ย(ข้าว) จำนวนเล็กน้อยตามแต่ตกลงกัน ซึ่งข้าวเป็นดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะเก็บรวบรวมไว้ในธนาคารและถือเป็นสมบัติของส่วนรวม...ราษฎรต้องร่วมมือกันสร้างยุ้งที่แข็งแรง ทั้งนี้ หากปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ จำนวนข้าวที่หมุนเวียนในธนาคารจะไม่มีวันหมด แต่จะค่อย ๆ เพื่อจำนวนขึ้น และจะมีข้าวสำหรับการบริโภคตลอดไปจนถึงลูกหลาน ในที่สุดธนาคารข้าวจะเป็นแหล่งรักษาผลประโยชน์ของราษฎรในหมู่บ้าน และเป็นแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้านด้วย...
                   (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.๒๕๑๙)
                   พระราชดำรัสและพระราชโอวาทที่นำเสนอในที่นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งทึ่ทรงพระราชทานให้แก่ประชาชนชาวไทย นำมาซึ่ง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในกาลต่อมา  เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้หันกลับมามองตัวเอง หาจุดที่ตัวเองอยู่ ดูฐานะ เพื่อพัฒนาชีวิตตนเองและครอบครัวตามฐานะของแต่ละท่านแต่ละคน ไม่หลงฟุ้งเฟ้อ ไม่เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนธรรมชาติ และอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล...ขอพระองค์ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
(ที่มาจากหนังสือ ๘๔ คำสอนของพ่อ สิ่งที่ในหลวงมอบให้ปวงชนชาวไทย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น