วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระเจ้าใหญ่สามภพ


ขอทำหน้าที่พุทธศาสนิกชน เชิญชวนผู้ใจบุญร่วมกันสร้าง "พระเจ้าใหญ่สามภพ"เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนาให้มีอายุครบ 5,000 ปี.
ขอเชิญชวน พุทธศาสนิกชน
ทั้งในและนอกประเทศ ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบทุน สร้าง
พระพุทธศรีสัตตนาคา อริยะวิสุทธาธิบดี ศรีโลกนาถ
(พระเจ้าใหญ่สามภพ)
หน้าตักกว้าง 9 เมตร สูง 36 เมตร
เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ประดิษฐาน ณ วัดมงคลโกวิทาราม(ห้วยวังนอง) ตำบลปทุม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 
ร่วมบริจาคสมทบทุน ได้ที่
สำนักงานโครงการฯ วัดมงคลโกวิทาราม (ห้วยวังนอง) 
ต.ปทุม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
หรือ
โอนเข้าบัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนสรรพสิทธิ์ (ออมทรัพย์)
เลขที่บัญชี 322-0-19602-0
โทร.  045-250505, มือถือ 081-2665995
พระครูสิริสุวิมล
ประธานฝ่ายบรรพชิต
พลตรี นรินทร์ มุทุกันต์
ประธานฝ่ายคฤหัสถ์
อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป
               การจัดสร้างพระพุทธรูปหรือสิ่งพิมพ์อันเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนเป็นกุศลดังนี้
                        1. อกุศลกรรมในอดีตชาติแต่ปางก่อน  จะเปลี่ยนจากหนักเป็นเบา จากเบาเป็นสูญ
                        2. สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง  สรรพภยันตรายสลาย
                        3. เจ้ากรรมนายเวรในอดีตชาติแต่ปางก่อน เมื่อได้รับส่วนบุญไปแล้ว ก็จะเลิกเว้นการจองเวร
                        4. เหล่ายักษ์ผีรากษส  งูพิษ เสือร้าย  ไม่อาจเป็นภัย
                        5. จิตใจสงบ ปวงภัยไม่เกิด ฝันร้ายไม่มี ราศีผ่องใส สุขภาพแข็งแรง กิจการงานเป็นมงคล
   6. มั่นคงในคุณธรรม ความอุดมสมบูรณ์ปรากฎเกินความคาดฝัน  ครอบครัวสุขสันต์ วาสนายั่งยืน
                        7. คำกล่าวเป็นสัตย์ ฟ้าดินปราณี ทวยเทพยินดี มิตรสหายปรีดา
                        8. คนโง่สิ้นเขลา คนเจ็บหายได้ คนป่วยหายดี  ความทุกข์หายเข็ญ สตรีจะได้เกิดเป็นชาย
                        9. พ้นจากมวลอกุศล เกิดใหม่บุญเกื้อหนุน มีปัญญาเลิศล้ำ บุญกุศลเรืองรอง
                        10. สิ่งที่สร้างจะบังเกิดเป็นกุศลจิตแก่ทุกคนที่ได้พบเห็น  เป็นเนื้อนาบุญอย่างอเนกทุกชาติของผู้สร้างที่เกิด  จะได้ฟังธรรมจากพระอริยเจ้า  ปัญญาในธรรมแก่กล้า สามารถได้อภิญญาหก สำเร็จโพธิญาณ
                        การจัดสร้างพระพุทธรูปและสิ่งพิมพ์เป็นกุศลดังกล่าว ฉะนั้นในงานวันเกิด งานมงคลต่างๆ กาฉลองยศหรือตำแหน่ง การทำบุญสะเดาะเคราะห์ หรือขอพร การขอขมาลาบาปตลอดจน การอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น  หากได้สละทรัพย์สินเงินทอง  เพื่อจัดกิจการดังกล่าวด้วย  ก็จะเป็นผลานิสงส์สืบต่อไป

วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ตะวันส่องแสง


                                         เมื่อดวงเดือนเคลื่อนคล้อยลอยลับล่วง
                               ที่โชติช่วงแทนดวงแขแลเฉิดฉัน
                               เป็นดวงจิตดวงใจ...สายสัมพันธ์
                               เป็นตะวันส่องแสงแห่งป่าดง
                                       ด้วยดวงจิตดวงใจไหล..หลั่งล้น
                              ปัญญาชนศรัทธาเยี่ยมเปี่ยมประสงค์
                              หวังเผื่อแผ่ความเท่าเทียมให้เที่ยงตรง
                             ถึงอยู่ดงอยู่ป่าก็...มวลชน
                                      แม้ดวงเดือนเคลื่อนคล้อยลอยลับล่วง
                             ถึงวันล่วงเดือนลับใช่...สับสน
                            ดวงตะวันยังส่องแสงแข่งมืดมน
                            กลางใจชน คนโนนสูง นิรันดร์กาล
                                      เพลงพิณพาทย์ดังก้องซ้องแซ่เสียง
                           สรรพสำเนียงลำนำคำกล่าวขาน
                           บทคำกล่าวสรรเสริญ...เอื่อนเอยนาน
                            เป็นตำนานบอกเล่า...ต่อกันไป
                                                                   "ฅนจร"
      ตำนานบทกลอน
          เป็นบทกลอนที่แต่งเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๙ ที่โรงเรียนบ้านโนนสูง วันนั้นได้เดินทางไปกับท่านอาจารย์ประภัศร์ งามเถื่อน เพื่อร่วมงานรับมอบอาคารเรียน “ตะวันส่องแสง” จากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกค่ายพัฒนา อาคารที่รับมอบเป็นอาคารชั้นเดียวก่อด้วยอิฐหลังคามุงสังกะสีขนาด กว้าง ๘ เมตร ยาว๑๖ เมตร โรงเรียนบ้านโนนสูง กลุ่มหนองนกทา อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ในขณะนั้นมีนายไพบูลย์ จันทรักษาเป็นครูใหญ่ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีครู ๓ คน รวมผู้บริหาร มีบางครั้งที่ได้ไปสอนนักเรียนเมื่อออกนิเทศโรงเรียนแต่ไปเจอห้องเรียนที่ครูไปราชการสงสารเด็กที่มาเรียนแต่ไม่ได้เรียน

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ต้นไม้คุณธรรม

       
         การเปิดเรียนภาคเรียนที ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่วันที ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ แต่มีบางโรงเรียนก็ได้เปิดเรียนไปก่อนแล้ว การเปิดเรียนก่อนเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเป็นเรื่องที่ดี ปัญหาของการจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ ๒ ของทุกปี จะตกไปอยู่ที่โรงเรียนที่เปิดชั้นมัธยมศึกษาขยายโอกาสเพราะเด็กที่จะไปเรียนต่อ แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นเฉพาะขยายโอกาสอย่างเดียว โรงเรียนที่เปิดสอนในระดับประถมศึกษาก็ต้องมีการวางแผนในเรื่องนี้ให้ดี เพราะเด็กนักเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ จะต้องไปเรียนต่อเช่นกัน และภาคเรียนนี้กิจกรรมมีมากเป็นพิเศษ เช่น การแข่งขันกีฬากลุ่มสถานศึกษา งานวันเด็ก การเดินทางไกลและเข้าค่ายพักแรมลูกเสือ การสอบ NT สอบ O – net การประกวดมหกรรมในระดับภาคที่จะจัดประกวดที่จังหวัดมหาสาคาร ในวันที่ ๒๗ - ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ ซึ่งกิจกรรมที่มีมากอย่างนี้ จะส่งผลไปลงที่เด็กในด้านการเรียนการสอนที่อาจจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนอาจจะไม่จบตามหลักสูตรที่กำหนดไว้

          ก่อนปิดภาคเรียนที ๑ ได้รับแต่งตั้งจาก สพป.อบ.๓ ให้เป็นคณะกรรมการประกวดห้องสมุด ประกวดครูบรรณารักษ์ ประกวดนักเรียนที่ดีเด่นด้านการอ่าน ได้ไปพบไปเห็นห้องสมุดซึ่งส่งเข้าประกวด การประกวดได้แบ่งเป็นขนาด มีขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ โรงเรียนได้พัฒนาห้องสมุดเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เด็กได้ศึกษาค้นคว้า ซึ่งการบริหารจัดการห้องสมุดมีเกณฑ์ในการจัดการอย่างชัดเจน ทั้งนี้ได้มีการพัฒนาครูบรรณารักษ์ และประชุมชี้แจงให้ผู้บริหารได้รับทราบซึ่งผลการประกวดคงรับทราบกันไปแล้ว
          กิจกรรมในห้องสมุดที่พบที่เห็นนอกจากเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมในเรื่องของการอ่านแล้ว โรงเรียนยังได้นำเสนอกิจกรรมโดยการจัดนิทรรศการ นำโครงงานที่นักเรียนได้จัดทำมานำเสนอ       

           โครงงานคุณธรรม เยาวชนไทยทำดี ถวายในหลวงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่พบเห็น กันแทบทุกโรงเรียน ทั้งนี้ขอเรียนผู้บริหารและคุณครูที่ดูแลทุกท่านว่า โครงงานคุณธรรม เยาวชนไทยทำดี ถวายในหลวง นั้น เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กนักเรียนฝึกทำคือเด็กทำเอง คุณครูเป็นเพียงที่ปรึกษาให้คำแนะนำ ไม่ใช่ครูเป็นคนทำแล้วให้นักเรียนเป็นผู้นำเสนอ ซึ่งผิดไปจากเป้าหมายของโครงการที่กำหนดไว้ โครงงานที่ทำควรทำอย่างต่อเนื่องและมีการส่งต่อรุ่นไปเรื่อย ๆ มีเครือข่ายทั้งจากชุมชน จากตัวแทนศาสนา ควรประสานและให้ความร่วมมือกันทุกภาคส่วน เรื่องนี้คงฝากไว้กับผู้บริหารโรงเรียน และครูที่ปรึกษาที่ดูแลโครงงานแต่ละโรงเรียน

          โครงงานต้นไม้คุณธรรม เป็นโครงงานที่โรงเรียนได้จัดทำกันมาก ดูได้จากกลุ่มเครือข่ายส่งเข้าประกวดในระดับเขตพื้นที่ และในระดับกลุ่มโรงเรียน หลักการของโครงงานนี้มีอยู่ว่า ต้องการให้นักเรียนได้แก้ไขคุณธรรมที่นักเรียนยังบกพร่อง โดยการเขียนคุณธรรม(พฤติกรรม) ที่นักเรียนต้องการแก้ไข  เช่น หนูจะไม่พูดคำหยาบ ผมจะช่วยพ่อแม่ทำงาน ฯลฯ ไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ที่เรียกว่าต้นไม้คุณธรรม(ต้นไม้พลาสติก) เมื่อคุณธรรม(พฤติกรรม)ที่เด็กเขียนฝากไว้ที่ต้นไม้คุณธรรมผ่าน(โดยการประเมิน) ก็ให้หาสิ่งที่ต้องการแก้ไขมาตั้งสัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่ทำอีก หรือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องตั้งใจทำ ต้องการแก้ไขความบกพร่องของตนเอง ในคราวต่อไปมาเขียนแขวนไว้และตั้งจิตตั้งใจทำ ปรับปรุง หรือแก้ไข ระยะเวลาของการปรับพฤติกรรมที่เด็กแต่ละคนต้องการเขียนไว้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมจะไม่เท่ากัน ซึ่งสิ้นปีพฤติกรรมหรือคุณธรรมที่เด็กแต่ละคนต้องการปรับเปลี่ยนจะไม่เท่ากัน
          สิ่งที่จะช่วยให้โครงงานนี้บรรลุผลได้นั้นขึ้นอยู่กับการเป็นขั้นเป็นตอน การมีส่วนร่วมของบ้าน วัด โรงเรียน ส่วนของบ้านนั้น ผู้ปกครองต้องรับรู้รับทราบด้วยว่า เด็กได้ให้คำสัญญาว่าอย่างไร วัด(พระ)มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านพิธีการ คือก่อนที่จะให้เด็กนำพฤติกรรมที่เขียนเพื่อแก้ไขไปแขวนจะต้องมีพิธีกรรมเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เกิดความยำเกรง กระตุ้นให้นักเรียนจะได้ตั้งใจ(สัตย์ปฏิญาณ)ในการปฏิบัติตามที่เขียนไว้ โรงเรียนซึ่งก็เป็นนักเรียนเป็นผู้ทำ ผู้ปฎิบัติ ส่วนครู ผู้บริหาร ต้องคอยกำกับและแนะนำให้บรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งทั้ง ๓ ภาคส่วนนี้ จะเป็นหลักในการประเมินความสำเร็จของโครงงานต้นไม้คุณธรรม
          เริ่มภาคเรียนใหม่ ถึงแม้จะเป็นภาคเรียนที่ ๒ แต่ความยิ่งหย่อนในการเรียนการสอนคงไม่ยิ่งหย่อนไปมากกว่าภาคเรียนแรก การเรียนเป็นการพัฒนาชีวิต พัฒนาจิตวิญญาณ ความรู้ที่มีใช่ว่าจะติดตัวแค่ในปัจจุบัน แต่ภูมิรู้จะคงฝังในจิตเป็นฐานให้กับชีวิตต่อไป ก็ยังคงเป็นกำลังใจให้เพื่อนครูทุกท่านที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับความไม่รู้ สร้างสรรค์เด็กให้เป็นคนที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น...