วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

การประเมิน PISA : ตัวชี้วัดศักยภาพคนไทยในสายตานานาชาติ ?

       ด้วยในปี พ.ศ.๒๕๕๕ จะมีการประเมิน PISA ครั้งที่ ๕ ซึ่งการสอบ PISA นั้นจะมีผลต่อการลงทุนของประเทศ ทั้งนี้ สพฐ.กระตุ้นให้ครูปรับการสอนวิเคราะห์ ตั้งเป้าปี 2561 ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ  
     การเตรียมการรับการประเมินในครั้งนี้ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ประชุมชี้แจงผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนัก ถึงความสำคัญของการเข้าร่วมโครงการPISA ของประเทศไทย ว่า ประเทศไทย เข้าร่วมโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือPISA ตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งในกลุ่มอาเซียนมีประเทศที่เข้าร่วม 3 ประเทศคือ ไทย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ทั้งนี้ ล่าสุดผลประเมิน PISA ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2552 พบว่านักเรียนไทย มีผลประเมินค่อนข้างต่ำ คะแนนไทยสูงกว่าอินโดนีเซีย เพียงประเทศเดียว และต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์ค่อนข้างมาก ขณะที่ค่าเฉลี่ยของนักเรียนไทย ก็ต่ำกว่านานาชาติ และมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในการประเมินในครั้งที่ 5 นั้น PISA จะเริ่มเก็บข้อมูลในเดือน ส.ค.55 จะมีประเทศเวียดนาม และมาเลเซียเข้าร่วมด้วย ดังนั้นจากผลสอบที่ผ่านมาหากเรายังอยู่เท่าเดิมไม่พัฒนาขึ้น ต่างประเทศก็จะมองประเทศไทยไม่ดี
     "การที่ประเทศไทยมีผลคะแนน PISA ต่ำนั้น มีผลกระทบต่อการประเมินศักยภาพ และการลงทุนทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เพราะคะแนนจะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกที่มีการนำผล PISA ไปใช้ในการจัดลำดับการแข่งขันของประเทศ และใช้เป็นเกณฑ์หนึ่งในการพิจารณาความน่าลงทุนด้วย และผลการประเมินPISA ที่ผ่านมา สะท้อนว่าคุณภาพหรือศักยภาพของคนไทย ยังต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเร่งพัฒนาครูให้เข้าใจข้อสอบตามแนวของ PISA และสามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการวัดผลประเมินผลได้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ว่าภายในปี 2561 ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์(ผลทดสอบPISA) ต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ"  
     ทั้งนี้ รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า สพฐ.คงต้องกลับไปทบทวนว่ากระบวนการสอบ และกระตุ้นให้ครูฝึกตั้งคำถามปลายเปิด ที่ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหา และต่อไปมีแนวคิดว่าจะเอาข้อสอบ PISA ที่สามารถเปิดเผยได้ไปใส่ไว้เป็นแบบฝึกหัดให้ครูใช้สอนนักเรียนด้วย

     สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ลงนามในประกาศ สพฐ.เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน สู่การยกระดับผลการประเมินนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) PISA เป็นโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ ของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทาง เศรษฐกิจ (Organisation  for  Economic  Cooperation  and  Development  หรือ  OECD)  ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี ค..1999 (PISA 2000) วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อต้องการหาตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาให้แก่ประเทศสมาชิกและประเทศร่วมโครงการ PISA ประเมินถึงศักยภาพในการใช้ความรู้ของนักเรียนวัยจบการศึกษาภาคบังคับ ครั้งนี้เป็นการประเมินผลครั้งที่ 5  ซึ่งจะมีการประเมินในเดือน ส.ค.นี้ โดย สพฐ.ได้เห็นความสำคัญและถือเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่โรงเรียนในสังกัด สพฐ.จะต้องเห็นความสำคัญและรณรงค์ส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในการสอบ PISA และเข้าสู่กระบวนการประเมินด้วยความมั่นใจ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้
     1.โรงเรียนจัดช่วงเวลาอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง ส่งเสริมการอ่านเอาเรื่องจับใจความสำคัญ ตีความและคิดวิเคราะห์ ครอบคลุมภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาระต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
     2.ให้โรงเรียนจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้การสอบ PISA แก่นักเรียนชั้น ม.3 และ ม.อย่างต่อเนื่องทั้งในและนอกเวลาเรียน และรายงานต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เป็นระยะ
     3.โรงเรียนต้องจัดให้มีการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ ก่อนการสอบจริง แก่นักเรียนชั้น ม.3 และ ม.
     4. สพม. และ สพป.ต้องติดตามให้ความช่วยเหลือส่งเสริม พัฒนาการเรียนรู้การสอบ PISA แก่โรงเรียนอย่างใกล้ชิดทุกสัปดาห์ และให้รายงานต่อ สพฐ.ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
     5.โรงเรียนในสังกัด สพม.และ สพป.ใดที่ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้การสอบ PISA มีผลการประเมินสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับกลาง จะถือว่าปฏิบัติงานประสบความสำเร็จ สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป
     สำหรับผลการการประเมินในปี ๒๕๕๒ ของ PISA เป็นการประเมินผลครั้งที่ ๔ จาก ๖๕ ประเทศ โดยประเมินใน ๓ ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

o        ผลการประเมินการอ่าน จีนมีคะแนนเฉลี่ยอันดับ ๑ ได้ ๕๕๖คะแนน รองลงมาคือ เกาหลีและฟินแลนด์ ส่วนฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มีคะแนนอยู่ในกลุ่มTop Ten นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ย ๔๒๑ อยู่ในตำแหน่งที่ ๔๗-๕๑ จาก ๖๕ ประเทศ และพบว่านักเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีทักษะการอ่านสูงกว่าทุกภาค โดยเฉพาะโรงเรียนสาธิต
o        สำหรับผลการประเมินคณิตศาสตร์ จีนมีคะแนนสูงสุด ๖๐๐ คะแนน รองลงมา คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ไทเป ส่วนฟินแลนด์ ญี่ปุ่น อยู่ในกลุ่มTop Ten นักเรียนไทยอยู่ในกลุ่ม ๔๘-๕๒ จาก ๖๕ ประเทศ มีคะแนน ๔๙๖ คะแนน นักเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเรียนรู้คณิตศาสตร์สูงกว่าภาคอื่นๆ โดยโรงเรียนสาธิตมีคะแนนเทียบเท่ามาตรฐานนานาชาติ
o        ส่วนผลการประเมินวิทยาศาสตร์ จีนมีคะแนนสูงสุด ๕๗๕ คะแนน รองลงมาคือ ฟินแลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี นักเรียนไทยอยู่ในตำแหน่ง ๔๗-๔๙ จาก ๖๕ ประเทศ คะแนน ๔๒๕ คะแนน โรงเรียนสาธิตมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดเทียบเท่ากับมาตรฐานนานาชาติ
              ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ที่ สสวท. ได้วิเคราะห์จากตัวแปรต่างๆ ได้แก่ การขาดแคลนครูที่มีคุณวุฒิ ไทยขาดแคลนครูเพิ่มทุกวิชา การกวดวิชานอกโรงเรียนได้ส่งผลทางลบต่อคุณภาพการเรียนรู้ ทำให้การคิดวิเคราะห์ของนักเรียน มีคะแนนลดลง และการใช้ ICT ที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ นักเรียนที่ใช้ ICT มากที่สุดไม่ได้มีคะแนนสูงอย่างที่คาดไว้ ส่วนตัวแปรที่ส่งผลทางบวกก็คือ โรงเรียนที่มีทรัพยากรที่มีคุณภาพ มีห้องวิทยาศาสตร์ ห้องสมุด มีครูที่พร้อม มีผลต่อคะแนนสูงขึ้น รวมถึงโรงเรียนที่มีอำนาจอิสระด้านการเงิน บริหารจัดการ ทำให้นักเรียนมีคะแนนสูงขึ้น นอกจากนี้การสนับสนุนกลุ่มโรงเรียนที่อ่อน หรือกลุ่มโรงเรียนที่ค่อนข้างจะไปทางอ่อน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ การสนับสนุนทรัพยากรแก่นักเรียนทุกคน ที่เท่าเทียมกันก็อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด

                                                                               

วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย บ่งบอกรากเหง้าและตัวตนคนไทย

          ขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นมรดกที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชนที่มีการสั่งสม และสืบต่อตกทอดกันไปไม่ขาดตอน ธรรมเนียมประเพณีจะสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญ ๓ ลักษณะคือ
          ความสัมพันธ์ระหว่างในครอบครัว เช่นการปฏิบัติตนระหว่าง พ่อ แม่ ลูก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับชุมชน ซึ่งจะมีกฎเกณฑ์เป็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามอย่างชัดเจน มีการแสดงออกทางพิธีกรรมและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การบายศรีสู่ขวัญ ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ เช่นการบูชาแม่โพสพ การแห่นางแมวขอฝน เป็นต้น
          สำหรับธรรมเนียมประเพณีสามารถเกิดและดับได้ เช่นเดียวกับสิ่งที่มีชีวิต เมื่อมีการขยายอำนาจ หรือการรุกรานทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยอาจเป็นลักษณะใด ลักษณะหนึ่ง ดังนี้
                   ถ้าธรรมเนียมประเพณีของฝ่ายผู้ถูกรุกรานด้อยกว่าฝ่ายผู้รุกราน ธรรมเนียมประเพณีของฝ่ายผู้ถูกรุกรานดับสูญไป
ถ้าธรรมเนียมประเพณีของฝ่ายผู้ถูกรุกรานเท่าเทียมกันกับฝ่ายผู้รุกราน ธรรมเนียมประเพณีของทั้งสองฝ่ายจะผสมผสานกันเกิดเป็นธรรมเนียมประเพณีใหม่ขึ้นมา
                    ถ้าธรรมเนียมประเพณีของฝ่ายผู้ถูกรุกรานเหนือกว่าฝ่ายผู้รุกราน ก็จะสามารถครอบงำและเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมประเพณีของฝ่ายผู้รุกราน ให้กลายเป็นธรรมเนียมประเพณีฝ่ายผู้ถูกรุกราน
                   กล่าวได้ว่า ชนชาติใดไม่สนใจหรือเฉื่อยชาในการอนุรักษ์ส่งเสริม และพัฒนาธรรมเนียมประเพณีของตนให้เจริญงอกงามอยู่อย่างสม่ำเสมอ ชาตินั้น ย่อมถูกชาติอื่นรุกรานและครอบงำทางธรรมเนียมประเพณี และอาจส่งผลทำให้ธรรมเนียมประเพณีของชาติสูญหายไปเลยจากสังคม

                   ชาติไทยมีมรดกล้ำค่าทางธรรมเนียมประเพณีอันเป็นพื้นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความมีอารยะธรรมอยู่มากมายเช่น
ประเพณีธรรมเนียมของราชสำนัก สิบสองเดือน ประกอบด้วย
พระราชพิธีเดือนอ้าย ได้แก่ พระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง และพระราชกุศลเทศน์มหาชาติ
พระราชพิธีเดือนยี่ ได้แก่ พระราชพิธีตรียัมปวาย พระราชกุศลถวายผ้าจำพรรษา
พระราชพิธี เดือนสาม ได้แก่ พระราชกุศลมาฆบูชา และพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน
 พระราชพิธีเดือนสี่ ได้แก่ พระราพิธีเกศากันต์ หรือการโกนจุก
พระราชพิธีเดือนห้า ได้แก่ การสังเวยเทวดา สมโภชเครื่องและเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ และพระราชพิธีสงกรานต์
พระราชพิธีเดือนหก ได้แก่ พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล
พระราชพิธีเดือนเจ็ด ได้แก่ พระราชกุศลสลากภัตร และพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา
พระราชพิธีเดือนแปด ได้แก่ พระราชพิธีเข้าพรรษา
พระราชพิธีเดือนเก้า ได้แก่ พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ และพระราชกุศลเสด็จถวายพุ่ม
พระราชพิธีเดือนสิบ ได้แก่ พระราชพิธีเข้าพรรษา
พระราชพิธีเดือนสิบเอ็ด ได้แก่ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน
พระราชพิธีเดือนสิบสอง ได้แก่ พระราชพิธีจองเปรียง

                   สำหรับธรรมเนียมประเพณีราษฎร์ จะแตกต่างกันออกไปตามภาคต่าง ๆ เช่น
                   ภาคเหนือ มีประเพณีสิบสองเดือนคือ
                             เดือนเกี๋ยง(ประมาณเดือนตุลาคม) ได้แก่ การออกวัสสา หรือ วสา(พรรษา) การทานขันข้าว หรือการตานกั๊วะข้าว การตานผ้าวัสสาหรือวสา(พรรษา) การตักบาตรเทโว และ การตานกฐิน หรือการทอดกฐิน
                             เดือนยี่(ประมาณเดือนพฤศจิกายน) ได้แก่ การตั้งธรรมหลวง การลอยโขมด(ลอยกระทง) การทานโคม และการลอยโคม
                             เดือนสาม (ประมาณเดือนธันวาคม) ได้แก่ การเกี่ยวข้าวเอาเฟือง การสู่ขวัญข้าว และการเข้าโสสานกัมม์
                             เดือนสี่(ประมาณเดือนมกราคม) ได้แก่การตานข้าวใหม่หรือ การตานดอยข้าว การตานข้าวจี่ ข้าวหลาม
                             เดือนห้า (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์) ได้แก่พิธีปอยน้อยปรือ ปอยลูกแก้ว
                             เดือนหก (ประมาณเดือนมีนาคม) ได้แก่พิธีปอยหลวง และพิธีปอยลากปราสาท หรือปอยล้อ
                             เดือนเจ็ด(ประมาณเดือนเมษายน) ได้แก่สงกรานต์
                             เดือนแปด(ประมาณเดือนพฤษภาคม) ได้แก่นมัสการพระเจ้าตนหลวง การนมัสการพระธาตุและสรงน้ำพระธาตุ
                             เดือนเก้า(ประมาณเดือนมิถุนายน) ได้แก่ การฟ้อนผีมด ผีเม็ง การเลี้ยงผี และจิบอกไฟ
                             เดือนสิบ(ประมาณเดือนกรกฎาคม) ได้แก่ การเข้าวัสสาหรือวสา(พรรษา) การถวายผ้าวัสสิกพัตร การถวายเทียนพรรษาการแฮกนาและการบูชาปุมต้างนา
                             เดือนสิบเอ็ด(ประมาณเดือนสิงหาคม) ได้แก่ การฟังเทศน์ ฟังธรรม การสู่ขวัญควาย การเอามื้อปลูกนา
                             เดือนสิบสอง(ประมาณเดือนกันยายน)ได้แก่การทานสลาก หรือการตานก๋วยสลาก และจาคะข้าว
                   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฮีตสิบสอง คือ
                             เดือนอ้าย(เดือนเจียง) เป็นงาน บุญเข้ากรรม
                             เดือนยี่ เป็นงาน บุญคุณลาน
                             เดือนสาม เป็นงาน บุญข้าวจี่
                             เดือนสี่ เป็นงาน บุญพระเวส
                             เดือนห้า เป็นงาน บุญสรงน้ำ หรือ บุญสงกรานต์
                             เดือนหก เป็นงาน บุญบั้งไฟและงานวันวิสาขบูชา
                             เดือนเจ็ด เป็นงาน บุญซำฮะ
                             เดือนแปด เป็นงาน บุญเข้าพรรษา
                             เดือนเก้า เป็นงาน บุญข้าวประดับดิน
                             เดือนสิบ เป็นงาน บุญข้าวสาก
                             เดือนสิบเอ็ด เป็นงาน บุญออกพรรษา
                             เดือนสิบสอง เป็นงาน บุญกฐิน
                   ภาคใต้ มีธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญ เช่น การแห่ผ้าขึ้นธาตุ การชักพระ การทำบุญสารทเดือนสิบ และการให้ทานไฟ ส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเพณีที่สำคัญ เช่นประเพณีเข้าสุหนัต วันฮารีรายอ งานกินเหนียว การแห่หมากพลู เพื่อเป็นเกียรติ
                   ภาคกลาง มีธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญ เช่น การรับบัวบางพลี งานกำฟ้า การตักบาตรดอกไม้ การวิ่งควายและการตักบาตรเทโว
          ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การดำรงอยู่ของขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นคือประชาชน ถ้าเมืองใด ถิ่นใดให้ความสนใจ ความสนใจที่ว่านี้ก็คือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป "เป็นการบ่งบอกรากเหง้าตัวตน"ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ การสิ้นสลายของประเพณีก็จะไม่ปรากฏ แต่เมื่อใดที่ขาดความเอาใจใส่ ดัดแปลงจนไม่หลงเหลือความเป็นตัวของตัวเองก็ถือว่าเป็นการจบสิ้นในประเพณีนั้น...และสุดท้ายก็หาที่มาที่ไปของตัวเองไม่เจอ...