วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

วัดเลียบ:วัดแห่งบูรพาจารย์


อุโบสถ
         วัดเลียบ เป็นวัดหนึ่งที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาสายวิปัสสนาในประเทศไทย เพราะวัดนี้มีความเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ ๒ รูป ที่เป็นต้นธารแห่งสายพระกัมมัฏฐานคือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และ  หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต
          ที่มาของชื่อวัด
          วัดเลียบ  ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี แต่เดิมเป็นสำนักสงฆ์สายวิปัสสนา จากบันทึกของพระโพธิญาณมุนี(สุธีร์ ภทฺทิโย) เขียนว่าสร้างเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๙๑ ตรงกับ จ.ศ.๑๒๑๐ ร.ศ. ๖๗ ปีวอกสัมฤทธิศก ตรงกับปลายรัชกาลที่ ๓ (ไม่พบเอกสารที่เป็นเอกสารการขอตั้ง)
ภาพวาดในอุโบสถ
          ส่วนที่มาของชื่อวัดเลียบนั้น พระโพธิญาณมุนี ท่านสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดที่สร้างเลียบคูเมือง เพราะลักษณะของแนวแม่น้ำมูลซึ่งเป็นชั้นสูงแล้วจึงลาดต่ำลงมา ทางทิศเหนือเป็นแอ่ง อยู่ระหว่างแนวถนนศรีณรงค์ ในบริเวณที่เรียกว่า หลุบยางใหญ่มีหนองน้ำอยู่เรียกว่าหนองนกทา อีกทั้งยังมีชื่อของถนนเขื่อนธานีปรากฏอยู่ แต่มีบางท่านสันนิษฐานว่า ชื่อวัดนั้นน่าจะมาจากกิริยาอาการเดินไปตามริมขอบ ของหลวงปู่เสาร์
          สำนักสงฆ์แห่งนี้มีอายุได้ ๔๔ ปี มีเจ้าอาวาสปกครองมา ๑๐ รูป จนถึงยุคท่านพระอาจารย์ทิพย์เสนา ทิพฺพเสโน(แท่นทิพย์) ได้มรณภาพลง ก็ไม่มีพระสงฆ์รูปใดครองสำนักสงฆ์แห่งนี้ต่อปล่อยให้ทิ้งร้างเป็นเวลาเกือบปี
ภาพแข่งเรือในอุโบสถ
          สร้างวัดเลียบ
          หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้มาบุกเบิกเสริมสร้างวัดเลียบและเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเส็ง เบญจศก จ.ศ.๑๒๕๔ (พ.ศ.๒๔๓๕) ตรงกับรัชกาลที่ ๕ โดยมีญาติโยม เช่น พระอุบลการประชานิจ(บุญชู พรหมวงศานนท์) พระสุรพลชยากร (อุ่น) ท้าวกรมช้างทองจัน และสังการีจารปัจฌา สังการีจารเกษ เข้ามาช่วยกันปฏิสังขรณ์วัด    
เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถาน หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล 
          ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา
          หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ในฐานะเจ้าอาวาสได้ขอพระราชทาน วิสุงคามสีมา โดนท้าวสิทธสาร และเพี้ยเมืองจัน ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นวิสุงคามสีมาตามพระราชโองการที่ ๘๗/๓๐๓ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ร.ศ.๑๑๕ พุทธศักราช ๒๔๓๙ ตรงกับปีที่ ๒๙ ในรัชกาลที่ ๕ วัดเลียบได้มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาสิบต่อมา เป็นวัดฝ่ายธรรมยุต ที่สืบทอดเจตนารมณ์ของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล จนตราบกระทั้งปัจจุน ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้คัดเลือกวัดเลียบเป็น อุทยานการศึกษาในวัด
เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถาน หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต 
ลำดับเจ้าอาวาส
เจ้าอาวาสครองวัดที่ผ่านมามีดังนี้
๑.พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) พ.ศ.๒๔๓๕ ๒๔๔๕
๒.พระมหาเสนา มหาเสโน พ.ศ.๒๔๔๕ ๒๔๕๒
๓. พระอาจารย์วิชิตอักษร คมฺภีโร (ขัมภรัตน์) พ.ศ.๒๔๕๒ ๒๔๘๒
๔.พระอาจารย์สนธิ์ สุวโจ พ.ศ.๒๔๘๒ ๒๔๙๘
๕.พระโพธิญาณมุณี (สุธีร์ ภทฺทิโย) พ.ศ.๒๔๙๘ ๒๕๓๑
๖.พระครูธรรมธรมาโนช โชติโก (ทรัพยานนท์) พ.ศ.๒๕๓๓ ๒๕๓๗
๗.กระอธิการไพโรจน์ อิทฺธุปาโท (สุรพัฒน์) พ.ศ.๒๕๓๙ ๒๕๔๑
 ๘.พระครูอุบลคณาภรณ์ (วีระชัย อริญฺขโย บุตราช) พ.ศ.๒๕๔๒ ปัจจุบัน
โอวาสธรรมจากหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
          ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์
          เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุนย์
ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรก จะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ
                   ขอให้ท่านพิจารณาดูเอา ให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมพระบรมศาสนาจารย์ แล้วใช้วิริยะความเพียรปฏิบัติอย่าท้อถอย
          โอวาสธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
                   สนิมมันเกิดในเนื้อเหล็ก กิเลสมันเกิดในดวงจิต ต้องประหารจิตให้เป็นธรรม
                   “ฝึกตนดีแล้ว จึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า
                   ผู้มีปัญญา ได้เห็นธรรม ซึ่งปัจจุบันควรเจริญความเห็นนั้นไว้เนือง ๆ ควรรีบทำเสีย
เสาพระเจ้าอโศก
          ปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุที่สำคัญภายในวัดเลียบ
                   ๑.อุโบสถ
                   ๒.เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถาน หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
                   ๓.เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถาน หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
                   ๔.หอไตรพิพิธภัณฑ์
                   ๕.เสาพระเจ้าอโศก