วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อานิสงส์ของการทำบุญ

                บุญเราไม่เคยสร้างใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า ลูกเอ๋ย ก่อนที่จะเที่ยวไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด
เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอ  จึงค่อยยืมบารมีจากคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมี ที่เที่ยวไปยืมมาจนพ้นตัว เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมด ไม่มีอะไรเหลือติดตัว แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้าหมั่นสร้างบารมีไว้ แล้วฟ้าดินจะช่วยเจ้าจงจำไว้นะ เมื่อไม่ถึงเวลา เทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้ ครั้นเมื่อถึงเวลา ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่ จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลย จะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า
          นี้คือเทศนาคำสอนของสมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) ที่ได้โปรดชี้ธรรมไว้ในนิมิตหลังจากที่ท่านล่วงลับไปแล้วเมื่อร้อยกว่าปี
          อานิสงส์ หมายถึงผลแห่งกุศลกรรม ผลบุญ ผลแห่งการกระทำความดีที่ตอบสนองแก่ผู้กระทำในรูปของ "บุญ"
          เมื่อกล่าวถึง บุญ บุญ คือความดี ความสะอาดแห่งจิต การทำบุญในพระพุทธศาสนามีอยู่มากมายหลายวิธี แต่การทำบุญที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนั้นในธรรมะเรียกว่า บุญกริยาวัตถุ ๓ ซึ่งประกอบด้วย ทาน ศีล ภาวนา
          ทาน คือการให้การให้ทานนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะเจาะจงเป็นเงินเป็นทองเท่านั้น ถ้าเราไม่มีเงินก็สามารถให้แรงเป็นทานการก็ได้การให้ทานในเรื่องเงินทองนั้น ถ้ามีเงินทองมากก็ทำมาก มีเงินทองน้อยก็ทานน้อย แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
          ศีล การทำบุญต้องมีศีลประกอบ เมื่อเราเอาสิ่งของไปถวายพระ พระจะให้รับศีล ๕ ก่อน เพื่อที่จะทำให้จิตใจบริสุทธิ์ การให้ทานจึงจะได้ผลเต็มที่ เราสามารถรักษาศีลได้ในขณะที่เรานอนหลับ และถือได้ครบ ๕ ข้อ เพียงแต่อาราธนารับศีลจากพระพุทธรูปที่อยู่ที่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญที่ง่ายได้รับผลเต็มกำลังในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าเราเกิดตายไปในขณะนั้นบุญก็ส่งผลให้เราไปสู่สุคติทันที
          ภาวนา การสวดมนต์ภาวนา เป็นการกล่าวถึงคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ การสวดมนต์ภาวนาด้วยความตั้งใจจนจิตเป็นสมาธิ และใช้สติพิจารณาเกิดเป็นปัญญา ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการสวดมนต์ภาวนาซึ่งสามารถทำให้บรรลุพระนิพพานได้
          การทำบุญแบ่งออกได้หลากหลายอย่างเช่น
๑.การรักษาศีล ทำสมาธิ (ภาวนา) เป็นการทำบุญที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย แม้ไม่มีทรัพย์สินเงินทองก็สามารถทำได้ ซึ่งการรักษาศีลและสมาธิ(ภาวนา)จะได้อานิสงส์ผลบุญมากกว่าการให้ทานเสียอีก เพียงเสียสละเวลาเล็กน้อยแต่ถ้าอยากได้บุญเต็ม ก็ต้องทำบุญให้ครบ ๓ อย่าง คือ ทาน ศีล ภาวนา อานิสงส์ที่ได้จากการรักษาศีลทำสมาธิทำให้
                   ๑.ทำให้อายุยืน                      ๒.ทำให้อ่อนกว่าวัย
                   ๓.ทำให้ผิวพรรณดี                   ๔.ทำให้มีร่างการแข็งแรง
                   ๕.ทำให้ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่รักษาหายยาก เช่น เอดส์ มะเร็ง
                   ๖.ทำให้เป็นผู้มีปัญญาดี
          ๒.การทำบุญกับบุพการี เช่นการตอบแทนบุญคุณบิดา มารดาที่ท่านเลี้ยงมา ดูแลท่านเมื่อยามแก่เฒ่า เจ็บป่วยไม่สบาย การทำให้ท่านไปเป็นทุกข์หรือเสียใจการกระทำเหล่านี้จะช่วยให้
                   ๑.ทำให้ชีวิตไม่ตกต่ำ                 ๒.ทำให้เป็นคนมีชื่อเสียง
                   ๓.ทำให้เป็นผู้มีทรัพย์                ๔.ทำให้รอดตายได้ราวปาฎิหาริย์
                   ๕.ทำให้ครอบครัวมีความสุข        ๖.ทำให้ได้รับแต่สิ่งที่ดีขึ้นในชีวิต
                   ๗.ทำให้เป็นคนที่มีบุคลิกดี           ๘.ทำให้ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
                   ๙.ทำให้เมื่อเสียชีวิตไปแล้วไม่ตกในอบายภูมิ ๑๐.ทำให้เป็นผู้ที่เกิดมาไม่พิการ
          ๓.การทำบุญกับเด็ก ๆ เด็กกำพร้าหรือเด็กผู้ด้อยโอกาส เป็นกลุ่มเด็กที่น่าสงสารเห็นใจ การที่เราเลือกทำบุญในวันสำคัญของชีวิต เช่น การไปทำบุญวันเกิด กับเด็ก ๆ ผู้ยากไร้ นอกจากจะช่วยให้เขาเหล่านั้นได้รับความอนุเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนไปชั่วขณะ ก็ยังทำให้ท่านได้ผลบุญเช่น
                   ๑.ทำให้เป็นผู้ที่ไปไหนก็มีคนให้การต้อนรับ  ๒.ทำให้ไม่ว้าเหว่ เดียวดาย
                   ๓.ทำให้มีหน้าที่อ่อนกว่าวัย         ๔.ทำให้ใคร ๆ ก็ไม่ปฏิเสธในการให้ความช่วยเหลือ
                   ๕.ทำให้มีมิตรมากกว่าศัตรู ๖.ทำให้มีเสน่ห์ ยิ้มง่าย และอารมณ์ดี
          ๔.การสวดมนต์ด้วยพระคาถาต่าง ๆ
                   การสวดมนต์อย่างน้อยวันละครั้ง เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยคุ้มครองชีวิต หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า เงินทองไหลมาเทมา แคล้วคลาดจากอุปสรรคทั้งปวง จิตจะเป็นสมาธิได้เร็ว ทำให้มีเสียงไพเราะและได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี บทสวดมนต์ที่นิยมคือ  พระคาถาพาหุงมหากาพระคาถา ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก และ พระคาถาชินบัญชร หรือคาถาอื่นที่เราสามารถท่องได้
          ๕.การทำบุญตักบาตรทุกเช้า การทำบุญตักบาตรในตอนเช้าถือเป็นการช่วยทำให้จิตใจผ่องใสในเช้าวันใหม่ มีกำลังใจในการทำงานการประกอบอาชีพ การตักบาตรนอกจากผู้ใหญ่แล้ว ควรฝึกให้เด็กซึ่งเป็นลูกเป็นหลานได้ร่วมกิจกรรมนี้ด้วย เด็กได้ตักบาตรในตอนเช้า ก็เท่ากับการที่เขาได้รับการฝึกฝนในเรื่องการใฝ่ธรรม ซึ่งการตักบาตรเป็นการให้อีกแบบ ที่ช่วยไม่ทำให้จิตใจคับแคบ และเป็นการฝึกเด็กให้ตื่นนอนแต่เช้าด้วย และอานิสงส์ของการตักบาตรก็ทำให้
                   ๑.ได้ช่วยเหลือศาสนาทั้งภพนี้และภพหน้า   ๒.ไม่ขาดแคลนอาหาร
                   ๓.ตายไปไม่หิวโหย         ๔.อยู่ในภพภูมิที่ไม่ขาดแคลนหรือจะตกถิ่นฐานใดไม่ขาดแคลน
                   ๕.ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์
          ๖.การถวายยารักษาโรคให้ วัด หรือออกเงินค่ารักษาให้พระตามโรงพยาบาลสงฆ์ อานิสงส์ที่ได้คือ
                   ๑.ก่อให้เกิดสุขภาพดีทั้งครอบครัว            ๒.โรคที่ไม่หายจะทุเลา
                   ๓.สุขภาพกายและสุขภาพจิตดี               ๔.อายุยืนทั้งภพนี้และภพหน้า
                   ๕.ถ้าเจ็บป่วยก็ไม่ขาดแคลนด้านเวชภัณฑ์ การรักษา

          ๗.การสร้างพระถวายวัด อานิสงส์
                   ๑.ผ่อนปรนหนี้กรรมให้บางเบา               ๒.ทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
                   ๓.สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง                        ๔.แคล้วคลาดจากอุปสรรคทั้งปวง
                   ๕.ครอบครัวเป็นสุข              ๖.ทำให้เกิดมาอยู่ในบวรพระพุทธศาสนาตลอดไป
          ๘.การให้เงินขอทาน ให้เงินคนที่เดือดร้อน(เว้นการให้ยืม) อานิสงส์
                   ๑.ทำให้เกิดลาภไม่ขาดสายทั้งภพนี้และภพหน้า       ๒.ไม่ตกทุกข์ได้ยาก
                   ๓.เกิดมาชาติหน้าจะร่ำรวยและไม่มีหนี้สิน        ๔.ความยากจนในชาตินี้จะทุเลาลง
                   ๕.จะได้เงินทองโชคลาภมาอย่างไม่คาดฝัน
          ๙.การตักบาตรร่วมขันกับผู้อื่น หรือทำบุญร่วมกับผู้อื่น ซึ่งการทำบุญลักษณะนี้รวมการบริจาคทรัพย์หรือโดยทางอื่น ๆ ทำให้เนื้อคู่ดูดี ดวงชะตาแข็ง เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ชาตินี้จะได้พบแต่เพื่อนที่ดี
          และนี้คือตัวอย่างที่นำมาเสนอซึ่งยังมีอีกมากมายวิธีการของการกระทำแล้วก่อให้เกิดคำว่า บุญ
หัวใจสำคัญของการทำบุญและการสวดมนต์ทุกครั้งหลังการทำบุญและสวดมนต์ ต้องแผ่เมตตา และกรวดน้ำทุกครั้ง อุทิศบุญที่ได้ให้กับเจ้ากรรมนายเวร หรือญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอให้ทุกท่านมีความสุขในบุญที่ได้กระทำ... 
ชีวิตเราเปรียบเหมือนสายน้ำที่ไหลไปแล้วไม่หวนกลับ..จงเร่งสร้างบุญ สร้า้งกุศล เพื่อการเดินทางที่ยังยาวไกล

วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศาลรัฐธรรมนูญกับวิกฤติการเมืองไทย


      วิกฤติการเมืองไทยในปัจจุบันเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี2550 ซึ่งมองว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติ รัฐประหารเมื่อปลายปี 2549 การพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีการนำเข้าพิจารณาในรัฐสภา ซึ่งผ่านไปแล้ว ๒ วาระ แต่เมื่อนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่อเสนอผ่านในวาระที่ 3 ศาลรับธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรอิสระได้แจ้งให้ชะลอการลงมติดังกล่าวไว้ก่อน เพราะมีผู้ร้องทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดผู้ร้องและผู้ถูกร้องเข้าให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา ในวันที่ 5 6 กรกฎาคม 2555 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ซึ่งมีอยู่ 4 ประเด็นตามที่ได้นำเสนอตามที่ ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย ได้เสนอไว้ในหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ออนไลน์ ดังนี้     
   เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชนก็ควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือ รัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 291”
       เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550มาตรา 291 ไม่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 68 โดยศาลได้แบ่งประเด็นในการวินิจฉัย 4 ประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ 
          รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550มาตรา 68 วรรค1บัญญัติว่าบุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้ และวรรค 2 บัญญัติว่าในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรค 1 ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวแต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว 
          ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าในมาตรา 68 วรรค 2 เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ทราบการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 68 วรรค 1 ที่จะใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิ 2 ประการ คือ 1.เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ 2.สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ เพราะอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการในกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรค 2 เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อัยการสูงสุดเพียงแต่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น หาได้ตัดสิทธิของผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงไม่ เมื่อผู้ร้องได้เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วชอบที่จะใช้สิทธิประการที่ 2 ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ 
          ศาลเห็นว่าการแปลความดังกล่าวนี้จะต้องสอดคล้องต่อเจตนารมณ์ในมาตรา 68 ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและเป็นไปเพื่อการรับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 ที่ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ เนื่องจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เลิกการกระทำที่อาจเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้นั้นการกระทำดังกล่าวจะต้องกำลังดำเนินการอยู่และยังไม่บังเกิดผล ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะมีคำวินิจฉัยสั่งให้เลิกการกระทำนั้นได้ หาไม่แล้วคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรค 2 ก็จะเป็นการผลวิสัยไม่สามารถใช้บังคับได้ 
อีกทั้งสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 นี้มีหลักการสำคัญมุ่งหมายให้ชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องพิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศให้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกล้มล้าง โดยสภาพจึงเป็นมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้าเพื่อจะได้มีโอกาสตรวจสอบวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่จะเป็นอันตรายต่อระบบการปกครองและเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญมิให้เกิดขึ้นได้ เพราะถ้าหากปล่อยให้เกิดการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญขึ้นแล้ว ย่อมสุดวิสัยที่จะแก้ไขให้กลับคืนดีได้ เช่นนี้แล้วประชาชนผู้ทราบเหตุตามมาตรา 68 วรรค 2 ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิของตนต่อต้านการกระทำนั้นโดยสันติวิธี
         เนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้มิได้มุ่งหมายการลงโทษทางอาญาหรือการลงโทษทางรัฐธรรมนูญเท่านั้นแต่ยังหมายถึงการสั่งให้เพิกถอนการกระทำที่มิชอบตามมาตรา 68 วรรค1เสียก่อนที่การกระทำนั้นจะบังเกิดผล การมีอยู่ของมาตรา 68 และ 69 แห่งรัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นไปเพื่อรักษาหรือคุ้มครองตัวรัฐธรรมนูญเอง ตลอดจนหลักการที่รัฐธรรมนูญได้รับรองหรือกำหนดกรอบไว้ให้เป็นเจตนารมณ์หลักทางการเมืองของชาติ คือ การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ และป้องกันการกระทำเพื่อให้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 
           ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญในประการนี้ต่างหากที่ถือเป็นเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญที่จะต้องยึดถือไว้เป็นสำคัญยิ่งกว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้จะถือเป็นเครื่องมือช่วยค้นหาเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้ แต่ความเห็นของผู้ร่างรัฐธรรมนูญคนใดคนหนึ่งก็มิใช่เจตนารมณ์ทั้งหมดของรัฐธรรมนูญแต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากรายงานการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ยังพิจารณาได้ว่าสาระสำคัญของการอภิปรายนั้นมีเจตนาร่วมกันที่จะให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญผ่านกลไกของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้เป็นสำคัญยิ่งกว่าเรื่องของตัวบุคคลผู้ที่มีสิทธิเสนอคำร้อง 
           การตีความเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงควรตีความไปในแนวทางของการยอมรับสิทธิมิใช่จำกัดสิทธิ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้ามาตรวจสอบการกระทำที่อาจมีปัญหาตามมาตรา 68 วรรค 1 เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้สมดังเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว 
           กรณีอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงตามมาตรา 68 วรรค 2 แล้วแต่ยังไม่มีคำสั่งประการใดจากอัยการสูงสุดหากปล่อยให้กระบวนการลงมติในวาระ 3 ลุล่วงไปแล้วแม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นเป็นไปโดยมิชอบด้วยมาตรา 68 วรรค 1 ให้เลิกการกระทำนั้นก็จะไม่สามารถบังคับตามคำวินิจฉัยในทางใดได้อีก รวมทั้งไม่อาจย้อนคืนแก้ไขผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าวได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาและวินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68
วรรค 2
          ประเด็นที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่
         เห็นว่าอำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจก่อตั้งองค์กรทั้งหลายและถือว่ามีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งระบบกฎหมายและก่อตั้งองค์กรทั้งหลายในการใช้อำนาจการเมืองการปกครองเป็นอำนาจสูงสุดอันเป็นที่มาโดยตรงในการให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ 
         เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้นใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญนั่นเองกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเหมือนการแก้ไขกฎหมายธรรมดาสำหรับประเทศไทยเป็นประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายยึดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดวิธีการหรือกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากกฎหมายทั่วไป
การตรารัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 เป็นกระบวนการที่ได้ผ่านการลงประชามติของผู้ใช้อำนาจอธิปไตย คือ ประชาชนโดยตรง ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตามแต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291
         เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชนก็ควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือ รัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 291
ประเด็นที่ 3 การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1 หรือไม่ 
           พิจารณาแล้วเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้มีวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นรายมาตราเพื่อปฎิรูปการเมืองและปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550ให้ไว้เพื่อเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเอง หรือ ปัญหาจากข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและมีความสอดคล้องต่อเนื่องในคราวเดียวกัน
          ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่...พ.ศ..จึงเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา 291อันถือได้ว่ามีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหากพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..)พ.ศ....ที่ได้มาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีส.ส.ร.มาทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกำหนดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังที่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 2 และกำลังเข้าสู่การลงมติในวาระที่ 3 จะเห็นได้ว่ากระบวนดังกล่าวดังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง 
อีกทั้งขั้นตอนการจัดตั้งส.ส.ร.ก็ยังไม่ได้เป็นรูปธรรม การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงเป็นคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งยังไม่มีผลแต่ประการใด และเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1)วรรค 2 ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ได้บัญญัติชัดแจ้งในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าว่าญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะเสนอมิได้
           ประกอบกับบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่)พ.ศ.ให้เหตุผลจะยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป และบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวตามมาตรา 291/11 วรรค 5 ก็ยังได้บัญญัติคุ้มกันเพื่อรับรองการร่างรัฐธรรมนูญที่จะไม่กระทบถึงสาระสำคัญแห่งรัฐว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้และหากร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะดังกล่าวให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 291(11) วรรค6
            อย่างไรก็ตามหากส.ส.ร.ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์แล้วประธานรัฐสภาและรัฐสภาก็มีอำนาจยับยั้งให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปได้ รวมทั้งหากบุคคลใดทราบว่ามีการกระทำเพื่อล้มล้างการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวก็ยังมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำการดังกล่าวในทุกช่วงเหตุการณ์ที่บุคคลนั้นทราบตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยังมีผลบังคับใช้
          ประการสำคัญเมื่อพิจารณาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญจากฝ่ายถูกร้องอาทิ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายอัชพร จารุจินดา ผู้แทนคณะรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ผู้แทนพรรคเพื่อไทย นายชุมพล ศิลปอาชา ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนา และ นายภราดร ปริศนานันทกุล ล้วนต่างเบิกความถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินการเพื่อให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ และผู้ถูกร้องทั้งหมดยังแสดงถึงเจตคติอันตั้งมั่นว่าจะดำรงคงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่เช่นเดิม
          พิจารณาแล้วจึงเห็นว่าข้ออ้างของผู้ร้องทั้ง 5 ดังกล่าวข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 6 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ข้ออ้างทั้งหมดจึงยังเป็นการเพียงการคาดการณ์หรือเป็นความห่วงใยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและยังห่างไกลต่อการที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นตามที่กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอฟังได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้แต่อย่างใด
         ดังนั้นการกระทำของผู้ถูกร้องฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา 68 วรรค 1 ศาลจึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้
         ประเด็นที่ 4 หากกรณีเข้าเงื่อนไขตามประเด็นที่ 3ดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยต่อไปจะมีผลให้ยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคได้หรือไม่
          เมื่อได้วินิจฉัยกรณีดังกล่าวแล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ 4 อีก อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยให้ยกคำร้องทั้ง 5 คำร้อง 

          ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทพุทธศักราช 2540 แทนคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ยุบเลิกไป และมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอรรถคดีทั่วไป
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวม 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้
1.ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 5 คน
2.ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีการลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา โดยการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน
4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา โดยการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 คน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกับและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้
1.ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 3 คน
2.ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน
4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน
อำนาจหน้าที่ที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ คือ การพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ของวุฒิสภา หรือของรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญโดยที่ศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้ง และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ตลอดจนพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเป็นระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ซึ่งแตกต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไปของศาลยุติธรรม



วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พลเมืองไทยกับวิถีแห่งประชาธิปไตย


          พลเมืองไทยหมายถึงบุคคลที่มีความเป็นไทย (ศิลปวิทยา ธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อและความคิดเห็นที่จะสามัคคีกันอยู่เป็นปึกแผ่น) อยู่ในตนเองและสามารถที่จะถ่ายทอดความเป็นไทยสืบต่อไปยังคนรุ่นหลังได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
          ความเป็นพลเมืองไทยหมายถึง การนำความเป็นไทย มาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งการคิดค้น ปรับปรุงหรือดัดแปลงความเป็นไทยให้เข้ากันได้กับสภาพการณ์ที่เป็นจริงทั้งทางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง
          วิถีประชาธิปไตยหมายถึง วิธีการปฏิบัติตนที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการดำรงชีวิตตามความเป็นไทยกับการเข้าไปมีส่วนร่วมของคนไทยในการเมืองและการบริหาร
          ความหมายของประชาธิปไตยในสังคมไทย ประชาธิปไตยภายในสังคมไทย จะมีได้ ๒ นัยคือนัยของชีวิต และนัยของการเมืองการบริหาร
          ๑.นัยของวิถีชีวิต สังคมไทยจะมีความมั่นคงและปลอดภัย ถ้าคนไทยปฏิบัติตามวิถีชีวิตของความเป็นไทย
                   ๑.๑ การรู้รักสามัคคี ความรักใคร่สามัคคีปรองดองระหว่างคนไทยในอดีต ได้ทำให้ประเทศไทยดำรงอยู่มาได้ตราบเท่าทุกวันนี้ ยามใดที่คนไทยอ่อนแอชิงดีชิงเด่นและหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ยามนั้นประเทศไทยจะตกอยู่ในมหันตภัย ผลลัพธ์จากการเสียกรุงศรีอยุธยา ๒ ครั้ง เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่ คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดาพระราชวังดุสิต วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ ของความสามัคคีไว้อย่างลึกซึ้ง ...คนไทยนี้ความจริง รู้รักสามัคคี ถึงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ถ้าไม่ รู้รักสามัคคีอยู่ไม่ได้  รู้รักสามัคคี ควรจะใช้ได้เพราะ หมายความว่า ทุกคนถือว่าตนเป็นคนไทย มีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ทุกคนรู้ว่าต้องมีความสามัคคี รู้ ก็คือ ทราบ ทราบความหมาย ของสามัคคี รัก คือ นิยม นิยมความสามัคคี เพราะเหตุใดคนไทยจึง รู้รักสามัคคี ก็เพราะเมืองไทยนี้ฉลาด ไม่ใช่ไม่ฉลาด คนไทยที่ฉลาด รู้ว่าหากเมืองไทยไม่ใช่ความสามัคคี ไม่เห็นอกเห็นใจกัน ไม่ใช่อะไรที่พอรับกันได้ พอที่จะใช้ได้ ก็คงจะไม่ได้ทำอะไร หมายความว่า ทำมาหากิน ก็ไม่ได้ทำมาหากิน เพราะว่าไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีความสงบ..จะต้อง รู้รักสามัคคี
                   ๑.๒ ความเป็นกลางและไม่มีอคติ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน บุคคลต้องไม่เลือกปฏิบัติ การทำงานต้องให้เกียรติกันไม่จับผิดกันและกันตลอดเวลา การตัดสินใจและการประเมินผลต้องกระทำแบบตรงไปตรงมาไม่นำความชอบความเกลียด ความชังเข้ามาใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบาย เกี่ยวกับอคติไว้ว่า อคติ...ตามรากศัพท์คือ สิ่งที่ไม่ควรจะทำ หรือสิ่งที่ไม่ควรจะไป แปลว่า ไม่ คติก็หมายความว่า ไป..สิ่งที่ไม่ควรไปนั้น หมายความว่า สิ่งที่ไม่ควรทำหรือไม่ควรตัดสิน ไม่ควรคิด..อคตินั้นมีฐานมีรากมาจากความไม่ดี...อคติทั้งหมายนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องพยายามเห็นและเรียน ถ้าปราศจากอคติแล้วก็จะถูกต้องตามหลักวิชา หมายความว่า ถูกต้องตามบทกฎหมายที่มีอยู่ และเป็นไปตามกฎของความยุติธรรมคือความดี ความถูกต้อง...   

                   ๑.๓ ความจริงใจต่อกัน ถ้าคนในสังคมไม่จริงใจต่อกัน การทำงานหรือการติดต่อกันในเรื่องต่าง ๆ จะประสบแต่อุปสรรคไม่ราบรื่น เนื่องจากแต่ละฝ่ายไม่ไว้วางใจกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับเรื่องความจริงใจไว้ว่า ความจริงใจมี ๒ ประการ ประการที่หนึ่งคือ ความจริงใจต่อผู้ร่วมงานซึ่งมีลักษณะประกอบคือความซื่อตรง เมตตา หวังดี พร้อมเสมอที่ร่วมมือช่วยเหลือและส่งเสริมกันทุกขณะ ทั้งในฐานะผู้มีจุดประสงค์ที่ดีร่วมกัน และในฐานนะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติ ร่วมโลกกัน ประการที่สอง ได้แก่ความจริงใจต่องาน มีลักษณะเป็นการตั้งจิตอธิษฐานหรือการตั้งใจจริง ที่จะทำงานให้เต็มกำลังกล่าวคือ เมื่อได้พิจารณาด้วยปัญญาเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า งานที่จะทำนั้นเป็นประโยชน์จริง ก็ตั้งสัตย์สัญญาแก่ตัวเอง ผูกพันบังคับตัวเองให้กระทำจนเต็มกำลังความสามารถ
                   ๑.๔ ความอดทนและอดกลั้น การบังคับใจหรือการข่มใจของตน จะทำให้ความขัดแย้งกับบุคคลอื่นลดน้อยลงความโกรธและความโมโหจะทำให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นความรุนแรงในลักษณะของ น้ำผึ้งหยดเดียว ได้ ในสังคมประชาธิปไตย บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมได้ แต่ถ้ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น อีกฝ่ายหนึ่งต้องรู้จักอดกลั้น ไม่โต้ตอบเพื่อไม่ให้เรื่องลุกลามบานปลายออกไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับความอดทนและอดกลั้นไว้ว่า ความอดทนและอดกลั้นไม่ยอมตัวยอมใจให้เป็นไปตามเหตุการณ์ตามอคติ และอารมณ์ที่ชอบหรือไม่ชอบใจนั้น ทำให้เกิดมีความยั้งคิด และธรรมดาคนเรา เมื่อยั้งคิดได้แล้ว...การพิจารณาทบทวนเรื่องใด ๆ ใหม่ ย่อมจะช่วยมองให้เห็นละเอียดชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจ..ปัญหาและความติดขัดก็ย่อมบรรเทาลง สามารถดำเนินงานทุกอย่างต่อไปได้โดยถูกต้อง ไม่ผิด..ไม่หลง และไม่เสียเวลา งานที่ทำก็จะบรรลุผลสมบูรณ์...   

                   ๑.๕ ความเสียสละ บุคคลในสังคมต้องรู้จัก การให้ และ การรับ บุคคลที่ต้องการจะให้ผื่นอนุเคราะห์อุ้มชู บุคคลนั้นก็ต้องคิดที่จะอนุเคราะห์อุ้มชูผู้อื่นด้วย บุคคลที่ต้องการให้ผู้อื่นไหว้ บุคคลผู้นั้นก็ต้องคิดที่จะไหว้ผู้อื่นด้วย ถ้าในสังคมคิดจะแบมือย่างเดียว ไม่คิดจะให้ใคร สังคมนั้นก็มีแต่ความเห็นแก่ตัว และชีวิตของแต่ละคนจะไม่มีความสุข สังคมที่ดีคือ สังคมที่คนในสังคมยอมสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และยอมสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานแง่คิดเกี่ยวกับการเสียสละที่สำคัญประการหนึ่งคือ การเสียสละความคิด โดยทรงเสนอมุมมอง ๒ ประการคือ ...สละความคิด..เท่ากับไปสร้างให้คนอื่นมีความคิด แล้วก็ทำให้คนอื่นมีงานทำได้ดีขึ้น ก็เป็นการทำให้มีความคิดที่แข็งแรงขึ้น...แต่สละในทางความคิดนั้นก็ยังมีในทางอื่นด้วย... คือสละในจิตใจของตัว บางที่เรามีความคิดอย่างหนึ่งว่าถูกต้อง แต่ว่าไปเผชิญกับปัญหาบางอย่าง ก็ต้องสละความคิดนั้น คือว่าเลิกคิด อันนี้ต้องอาศัยความเสียสละเหมือนกัน เพราะว่าเราคิดอย่างหนึ่งแล้วไปเจอว่าความคิดนั้นอาจไม่ถูกต้อง ความคิดของของคนอื่นดีกว่า เราต้องสละความคิดนั้น...มิฉะนั้น เราเสีย แล้วก็เราเสีย ส่วนรวมก็เสีย ฉะนั้นจุดสำคัญของการสละก็อยู่ตรงนี้ว่า ต้องสละความคิดที่ไม่สร้างสรรค์...
                   ๑.๖ ความมีเหตุผล ในการแก้ปัญหาหรือหาข้อสรุป จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้เสมอ เนื่องจากบุคคลจะมีภูมิหลังของครอบครัว การศึกษาและวิธีคิดที่แตกต่างกัน การใช้อารมณ์หรือยึดความคิดของตนเป็นใหญ่จะทำให้เกิดความไร้ระเบียบและความรุนแรงได้ง่าย ดังนั้นในสังคมประชาธิปไตย ควรหาข้อยุติในลักษณะของการร่วมกันคิด และร่วมกันอภิปรายโดยใช้ข้อมูลอย่างรอบด้าน มีการพิจารณาเหตุผลของแต่ละฝ่ายด้วยใจเป็นธรรม ข้อเสนอของฝ่ายใดที่มีเหตุผล และมีความเป็นไปได้มากกว่าก็จะถูกนำไปปฎิบัติต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ให้เห็นประโยชน์ของความมีเหตุผล ไว้ว่า ผู้ที่เคร่งคัดตามแบบแผนที่อาศัยเหตุผลแท้และมั่นคง ย่อมทรงตัวให้ตรงอยู่...ไม่มีพลาดพลั้งแต่ถ้าเหตุผลที่นำมาเป็นพื้นฐาน มิใช่เหตุผลที่ถูกที่แท้ หากแต่เป็นเหตุผลตามอารมณ์ตามความลำเอียงและหลงผิดแล้วก็หาเป็นเป็นพื้นฐานที่หนักแน่นมั่งคงมิได้เลย...เปรียบเหมือนคนที่ยืนอยู่บนพื้นดินเลน หรือในเรือที่โคลง ย่อมทรงตัวหรือขยับตัวอย่างเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแสนลำบาก เพราะต้องคอนเลี้ยงตัวมิให้คว่ำอยู่ตลอดเวลา...
การดำรงชีวิตตามวิถีประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้นนอกจากจะทำให้ครอบครัว
ของตนมีความสุขแล้ว ยังจะทำให้สังคมมีความสงบร่มเย็นไม่มุ่งร้ายกัน

          ๒.นัยของการเมืองการบริหาร โดยนัยนี้ ประชาธิปไตยหมายถึง ระบบการเมืองการบริหารที่ประชาชน เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการควบคุมการตรวจสอบ โดยการเลือกตั้งตัวแทนของตนให้เข้าไปทำหน้าที่แทนตนเอง ผ่านทางกระบวนการเลือกตั้ง จากความหมายข้างต้น ประชาธิปไตยมีเนื้อหาที่สำคัญ ๓ ประการ
          ๑.ประชาธิปไตยของประชาชน ซึ่งหมายถึงความเป็นเจ้าของ อันได้แก่
                   ๑.๑ ประชาชนสามารถทำให้รัฐบาล ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของตนได้ สามารถนำเนินการเพื่อให้มีรัฐบาลที่เป็นไปตามเจตจำนงของตนได้ รวมทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาลให้เป็นไปตามที่ตนต้องการได้ เช่น การเลือกตั้ง การทำประชามติ การทำประชาพิจารณ์ การแสดงออกตามสื่อต่าง ๆ เป็นต้น
                   ๑.๒ ความรักและความหวงแหนในการเมืองและการบริหารตามระบบประชาธิปไตยโดยการติดตามและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลการถือว่าการบริหารบ้านเมืองเป็น ธุระของตนไม่บอกปัดโดยใช้คำว่า ธุระไม่ใช่ และผลักให้ไปเป็น ธุระของรัฐบาล
          ๒ ประชาธิปไตยโดยประชาชน ซึ่งจะหมายถึง กระบวนการ อันได้แก่ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ อันได้แก่
                   ๒.๑ การเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง ได้แก่ การเข้าไปประชุมพร้อมกันทั้งหมด เพื่อตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญต่อบ้านเมืองหรือท้องถิ่นของตน สำหรับวิธีการที่สามารถนำมาใช้ในการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงคือ การออกเสียงประชามติ ซึ่งประเทศไทยสามารถนำวิธีการนี้มาใช้กับกิจการในท้องถิ่น เพราะจะมีประชาชนจำนวนน้อย และประชาชนมีวัฒนธรรมประเพณีที่คล้ายคลึงกัน รวมทั้งมีมาตรฐานการครองชีพที่ไม่แตกต่างกันมาก
                   ๒.๒ การเข้าไปมีส่วนร่วมโดยอ้อม หรือประชาธิปไตยแบบตัวแทน ได้แก่ การเลือกตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศแทนตนเอง ลักษณะสำคัญของประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีดังนี้
                   (๑) มีพรรคการเมืองเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก
                   (๒) มีการเลือกตั้ง
                   (๓) มีการใช้สิทธิออกเสียงโดยประชาชน
                   (๔) มีรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของผู้แทนราษฎรในสภาเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ และมีฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
          ๓.ประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ซึ่งจะหมายถึง เป้าหมายหรือประโยชน์ที่จะได้รับ กล่าวคือรัฐบาลที่เข้าไปบริหารประเทศ ต้องมีเป้าหมายเพื่อความผาสุกของประชาชน และสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ประเทศไทย โดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ใช้เข้าไปเพื่อกอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง...
                   ที่มา : หน้าที่ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                                                 คณะกรรมการเลือกตั้ง             

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การศึกษาโดยประชาชน... เพื่อประชาชน(พูดให้คิด)

                
                 เริ่มต้นปีการศึกษา ๒๕๕๕ สิ่งที่เป็นภาระสำหรับผู้ปกครองมากในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ คือ การซื้อเครื่องแบบนักเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียนของลูกหลาน หนังสือเรียนนั้นแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี มีการจัดซื้อหนังสือเรียนในสถานศึกษาเพื่อให้นักเรียนได้ยืมเรียนเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองไปได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ทั้งหมด หนังสือเรียนนักเรียนไม่ได้ซื้อก็จริง แต่สิ่งที่มาประกอบในการเรียนอย่างอื่น เช่น แบบฝึกหัดในแต่ละสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดขึ้นมาใช้ บางสถานศึกษาก็มีค่าจ้างครูต่างชาติมาสอน ฯลฯ  เหล่านี้ล้วนเป็นภาระของผู้ปกครองทั้งสิ้น

                   สถานศึกษาหลายแห่งกำหนดให้นักเรียนต้องซื้อแบบฝึกหัดที่มีเนื้อหาและแบบฝึกในตัว แต่ละสาระการเรียนรู้ ควบคู่กับหนังสือเรียน สิ่งที่สถานศึกษาต้องพิจารณามากเป็นพิเศษก็คือ ความเหมาะสม ไม่ใช่เพื่อความสะดวกของคุณครูในการจัดการเรียนการสอน แต่ผลกระทบมันมีมากมาย ผลกระทบสำหรับผู้ปกครองคือ ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งฐานรายได้ของผู้ปกครองแต่ละครอบครัวแตกต่างกันผลกระทบก็แตกต่างกัน ผลกระทบสำหรับนักเรียนคือ ต้องมีกระเป๋าที่ใหญ่ขึ้นหนักขึ้น แต่ละวันสะพายกระเป๋าไปโรงเรียนจนหลังแอ่น  ผลกระทบกับโรงเรียนคือ เนื้อหาสาระของหนังสือที่เลือกให้นักเรียนซื้อหรือเลือกเรียนหรือประกอบการเรียน ตรงกับหลักสูตรสถานศึกษาหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อการเรียนการสอน การสอบ และการจบช่วงชั้นของนักเรียน

                   การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนนั้น อยากให้คุณครูได้ชำเลืองดูหลักสูตรของสถานศึกษาให้มาก ๆ ดูว่าสถานศึกษาของเราได้กำหนดหน่วยการเรียนรู้แต่ละสาระการเรียนรู้ไว้อย่างไร ประเด็นที่พบคือ การสอนที่ยึดแบบเรียนสำเร็จรูปที่โรงเรียนกำหนดให้ซื้อมากกว่าหนังสือเรียนที่แจก การเรียนการสอนจบเมื่อปลายปี แต่เป็นการจบตามแบบเรียนสำเร็จรูปไม่ใด้จบตามหลักสูตรของสถานศึกษา สุดท้ายก็มีผลต่อการสอบ ในระดับชาติอย่างเช่น O – Net หรือ หรือการประเมิน PISA ซึ่งเรื่องนี้ จะทิ้งปัญหาเรื่องนี้ไปให้ฝ่ายวิชาการก็ไม่ได้ ผู้บริหารและคุณครูทุกคนรวมทั้งคณะกรรมการสถานศึกษา ต้องรับทราบปัญหา และหาทางแก้ไขร่วมกัน

                   สำหรับในการสอบ O – Net โรงเรียนทุกแห่งคงทราบผลไปแล้ว ในภาพรวมผลการสอบเฉลี่ยแล้วสูงขึ้น มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ยากฝากโรงเรียนก็คือ เราจะนำผลการสอบที่ทราบแล้วนี้ไปยกระดับผลสัมฤทธิ์ในโรงเรียนให้สูงขึ้นได้อย่างไร อยากให้โรงเรียนนำผลการสอบมาพิจารณาร่วมกันว่า มีเนื้อหาส่วนไหนที่สถานศึกษาของเรา นักเรียนของเรายังต่ำ ยังบกพร่อง การเรียนการสอนยังไม่ครอบคลุม มาปรับปรุงในเรื่องการเรียนการสอนของครู แนวทาง หรือวิธีการที่ใช้สอนในปีที่ผ่านมามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร จะปรับปรุงตรงไหน ปรับปรุงอย่างไร แล้วบันทึกหลังสอนที่บันทึกไว้ในบันทึกการสอน ปีนี้ควรเอามาพิจารณาปรับให้ตรงกับประเด็นที่ต้องแก้ไข
                   ในส่วนของการนำผลการสอบเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน(สพฐ.) นั้น ทางสพฐ.ต้องการใช้ผลการสอบโอเน็ตมาประกอบการจบช่วงชั้นในปีการศึกษา ๒๕๕๕โดยสพฐ.เสนอแนวทางในการนำผลการสอบ O – Net มาใช้ดังนี้
                   ๑.ให้ O – Net เป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ในการจบการศึกษาตามเกณฑ์ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)ในระดับพอใช้ หรือร้อยละ ๒๐ ขึ้นไป
                   ๒.ใช้คะแนน O – Net เป็นส่วนหนึ่งในการจบตามหลักสูตร ในอัตราผลการเรียนระหว่างเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรหรือจีพีเอเอ็กซ์ ต่อผลคะแนน O – Net เช่น ๘๐ : ๒๐ นอกจากนี้จะนำผล O – Net เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ การประเมินผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารและการขอวิทยฐานะของครู ซึ่งเชื่อว่าจะเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณภาพและส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ

                   สำหรับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เห็นชอบในแนวทางที่ ๒ ที่ สพฐ.เสนอ โดยมีมติเห็นชอบเสนอสัดส่วนการนำ O – Net มาใช้ดังนี้ ปีการศึกษา ๒๕๕๕ เริ่มจาก ๘๐:๒๐ ปีการศึกษา๒๕๕๖ เพิ่มเป็น ๗๐:๓๐ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ เป็น ๖๐:๔๐ และปีการศึกษา ๒๕๕๘ เป็น ๕๐:๕๐ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการถ่วงดุลและเทียบเคียงคุณภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การประเมินผลการเรียนรู้ในระดับสถานศึกษา ไม่มีมาตรฐานโดยจะสอบใน ๕ วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา

                   ยังเป็นเพียงข้อเสนอแนะที่จะนำผลการสอบ O – Net มาใช้ ซึ่งสถานศึกษาควรมีการทบทวนปรับปรุงการสอนให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากให้คิดนอกกรอบแล้ว เห็นว่า การศึกษาไม่ควรมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรแยกการศึกษาออกจากการเมือง ควรมีองค์กรที่เป็นอิสระนอกเหนือการเมือง มีอิสระในการจัดการศึกษากำหนดเป้าหมายการศึกษาของประเทศกำหนดทิศทางการศึกษาของไทย  เพราะที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนรัฐมนตรีมากไป เฉลี่ยแล้ว ปีละ ๒ ท่าน แต่ละท่านเข้ามา นโยบาย(ส่วนตัว)ก็แตกต่างกัน ความต่อเนื่องเรื่องนโยบายไม่มี แม้ท่านที่เป็นรัฐมนตรีจะมาจากผู้นำคนเดียวกันก็ตาม...ในทางตรงกันข้ามการจัดการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน  ประเทศเพื่อนบ้านทั้งแซงทั้งไล่หลังมาติด ๆ เหตุเพราะว่าการเมืองไทยไม่นิ่งเพราะมัวแต่แก่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ถ้ามีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองมาดูแลการจัดการศึกษา การศึกษาจะมีเสถียรภาพมากกว่านี้ เด็กไทยเก่งไม่ด้อยกว่าเด็กต่างชาติ ถ้าบริบทเกื้อหนุน  ถ้าจัดตั้งหน่วยงานอิสระดูแลเรื่องการศึกษา มีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเข้ามาบริหารจัดการ โดยผู้ที่อยู่ในองค์กรนี้จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง ทั้งในปัจจุบัน ก่อน และหลัง... ในส่วนภาครัฐซึ่งมาจากการเมืองก็เพียงแต่มีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณให้และช่วยกำกับให้เป็นไปตามทิศทางที่หน่วยงานกลางที่จัดการศึกษากำหนด คิดว่า น่าจะเอาอยู่ สำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำอยู่ในขณะนี้ หรือเราคิดไปเองว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ...เรื่องนี้ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ขอตอบว่าได้แน่นอน ถ้าประชาชนต้องการให้เป็น "การศึกษาโดยประชาชน เพื่อประชาชน" ทุกอย่างเป็นไปได้...สุดท้ายก็ขอให้คุณครูทุกท่านมีความสุขกับการทำงาน การทำงานเพื่อยกระดับชีวิตของนักเรียน(ประชาชน)ให้สูงขึ้น ด้วยการศึกษา.... นำการเมือง... ครับ


วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา : บ่งบอกตัวตนแต่ละสถานศึกษา

             การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) Office for National Education Standards and Quality Assessment (Public Organization) ซึ่งได้ประเมินโรงเรียนในรอบสามไปแล้วบางส่วน แต่ในรอบที่สามนี้ โรงเรียนจะต้องจัดทำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งจากการที่ได้ติดตามโรงเรียนที่จะประเมินโรงเรียนในรอบสาม พบว่าปัญหาที่โรงเรียนประสพคือ การจัดทำมาตรฐานการศึกษาสถานศึกษา บางโรงเรียนอิงเอามาตรฐานของชาติ แต่สิ่งที่โรงเรียนขาดคือเอกสารที่อ้างอิง แต่มาตรฐานของสถานศึกษาควรเกิดจากการการที่ของสถานศึกษาดำเนินการเองเพราะหมายถึงการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา
          การจัดทำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา นั้น เป็นกระบวนการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา เป็นขั้นตอนหรือวิธีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู ตัวแทนผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้
          ขั้นตอนที่ ๑ เตรียมความพร้อมการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
                   ๑.แต่งตั้งคณะกรรมการการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาตัวแทนผู้ปกครองชุมชน และผู้เกี่ยวข้อง
                   ๒.สร้างจิตสำนึกการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดำเนินการโดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการหรือชี้แจงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มาตรฐานการศึกษาของชาติ มาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกัดคุณภาพภายในของสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้ มาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประเมินภายนอก แนวทางการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา และประโยชน์ของการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
          ขั้นตอนที่ ๒ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมาตรฐานการศึกษาต่าง ๆ
                   การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมาตรฐานการศึกษาต่าง ๆ เป็นขั้นตอนสำคัญที่คณะกรรมการ ฯ จะต้องวิเคราะห์เนื้อหาสาระที่จะนำมากำหนดโครงสร้างของมาตรฐานสถานศึกษา โดยศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาสาระของมาตรฐานการศึกษาและตัวบ่งชี้ต่าง ๆ ประกอบด้วย มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก หลักสูตรสถานศึกษา จุดเน้น บริบท ความต้องการ และ อัตลักษณ์ของสถานศึกษา รวมทั้งด้านวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย เป้าหมาย สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกสถานศึกษา เป็นต้น สรุปเป็นภาพเป้าหมายที่สถานศึกษาต้องการ

          ขั้นตอนที่ ๓ กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาและค่าเป้าหมาย
                   หลังจากที่สถานศึกษาได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมาตรฐานการศึกษาและตัวบ่งชี้ต่าง ๆ แล้ว สถานศึกษาดำเนินการสังเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้น เพื่อหลอมรวมกำหนดเป็นมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่ครอบคลุมมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานด้านผู้เรียน ด้านคุณภาพการจัดการศึกษา ด้านคุณภาพการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ด้านอัตลักษณ์ของสถานศึกษา และด้านมาตรฐานการส่งเสริม หรือ มาตรฐานด้านอื่น ๆ ที่สถานศึกษาอาจกำหนดขั้นเพิ่มเติมนอกเหนือมาตรฐานดังกล่าวข้างต้นก็ได้
                   ในการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษานั้น สถานศึกษาจะต้องพิจารณาสาระสำคัญที่จะกำหนดในมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่สะท้อนอัตลักษณ์และมาตรฐานการส่งเสริมของสถานศึกษาอย่างชัดเจนซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องกับจุดเน้น วิสัยทัศน์ ปรัชญา และแนวทางการจัดการศึกษาของสถานศึกษา โดยผ่านกระบวนการเห็นชอบร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา และสาระสำคัญที่กำหนดขึ้นมา จะต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษานั้น ๆ และต้องกำหนดค่าเป้าหมายความสำเร็จของแต่ละมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่สถานศึกษากำหนดขึ้น โดยค่าเป้าหมายความสำเร็จดังกล่าวอาจกำหนดในลักษณะเป็นเป้าหมาย เชิงปริมาณ เป้าหมายเชิงคุณภาพ หรือเป้าหมายเชิงปริมาณกับเชิงคุณภาพ ผสมผสานกันในแต่ละมาตรฐานและตัวบ่งชี้ ซึ่งค่าเป้าหมายที่กำหนดขึ้นจะต้องสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาด้วยการพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของสถานศึกษา และมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุผล
          การกำหนดค่าเป้าหมายความสำเร็จ จะต้องนำข้อมูลย้อนหลัง ๓ ปี ของสถานศึกษาไปประกอบ ตัวอย่างเช่น การกำหนดค่าเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ต้องนำผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ๓ ปี มาพิจารณา กรณีที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ให้ดูช่วงที่เพิ่ม ปี ๑ ปี ๒ ปี ๓ เพิ่มเท่าไร การกำหนดค่าเป้าหมายในปีต่อไปจะดูที่ความเหมาะสมและนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กรณีที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นในลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ ให้นำผลที่เพิ่ม หรือลงทั้ง ๓ ปี มาหาค่าเฉลี่ย(กำหนดฐาน)การกำหนดค่าเป้าหมาย เมื่อได้ฐาน(ค่าเฉลี่ย)แล้ว ก็ให้ดูนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบการกำหนดต่อไป

          ขั้นตอนที่ ๔ ตรวจสอบและทบทวนมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
                   การตรวจสอบและทบทวนมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาเป็นการพิจารณาทบทวนเนื้อหาสาระที่กำหนดในมาตรฐานและตัวบ่งชี้รวมถึงค่าเป้าหมายความสำเร็จที่สถานศึกษาได้กำหนดขึ้นว่าเหมาะสม ครอบคลุม สอดคล้อง เป็นไปได้ โดยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบ
          ขั้นตอนที่ ๕ ประกาศใช้มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
                   มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา เป็นเครื่องบอกทิศทางการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และสถานศึกษาโดยรวม ดังนั้น การนำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา เผยแพร่และแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกรับทราบด้วยรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม เช่นการแจ้งในที่ประชุม จดหมายข่าว ประกาศเสียงตามสาย ป้ายประชาสัมพันธ์ และแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่สังกัดทราบ

          มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่แต่ละสถานศึกษาได้จัดทำนั้น การมีส่วนร่วมในการจัดทำเป็นประเด็นสำคัญ สถานศึกษาควรให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเช่น ผู้บริหารครูทุกท่าน ตัวแทนชุมชน ตัวแทนนักเรียน ตัวแทนผู้นำทางจิตวิญญาณ(ศาสนา)ร่วมจัดทำมาตรฐานสถานศึกษาซึ่งมาตรฐานสถานศึกษาที่ออกมานั้นก็คือรูปร่าง ตัวตนของสถานศึกษาแต่ละแห่งเป็นการประกาศแนวทางในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา และประกันการจัดการศึกษาตามซึ่งผู้จบการศึกษาจะมีคุณลักษณะตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษานั้นเอง...