วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา : บ่งบอกตัวตนแต่ละสถานศึกษา

             การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) Office for National Education Standards and Quality Assessment (Public Organization) ซึ่งได้ประเมินโรงเรียนในรอบสามไปแล้วบางส่วน แต่ในรอบที่สามนี้ โรงเรียนจะต้องจัดทำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งจากการที่ได้ติดตามโรงเรียนที่จะประเมินโรงเรียนในรอบสาม พบว่าปัญหาที่โรงเรียนประสพคือ การจัดทำมาตรฐานการศึกษาสถานศึกษา บางโรงเรียนอิงเอามาตรฐานของชาติ แต่สิ่งที่โรงเรียนขาดคือเอกสารที่อ้างอิง แต่มาตรฐานของสถานศึกษาควรเกิดจากการการที่ของสถานศึกษาดำเนินการเองเพราะหมายถึงการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา
          การจัดทำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา นั้น เป็นกระบวนการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา เป็นขั้นตอนหรือวิธีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู ตัวแทนผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้
          ขั้นตอนที่ ๑ เตรียมความพร้อมการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
                   ๑.แต่งตั้งคณะกรรมการการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาตัวแทนผู้ปกครองชุมชน และผู้เกี่ยวข้อง
                   ๒.สร้างจิตสำนึกการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดำเนินการโดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการหรือชี้แจงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มาตรฐานการศึกษาของชาติ มาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกัดคุณภาพภายในของสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้ มาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประเมินภายนอก แนวทางการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา และประโยชน์ของการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
          ขั้นตอนที่ ๒ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมาตรฐานการศึกษาต่าง ๆ
                   การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมาตรฐานการศึกษาต่าง ๆ เป็นขั้นตอนสำคัญที่คณะกรรมการ ฯ จะต้องวิเคราะห์เนื้อหาสาระที่จะนำมากำหนดโครงสร้างของมาตรฐานสถานศึกษา โดยศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาสาระของมาตรฐานการศึกษาและตัวบ่งชี้ต่าง ๆ ประกอบด้วย มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก หลักสูตรสถานศึกษา จุดเน้น บริบท ความต้องการ และ อัตลักษณ์ของสถานศึกษา รวมทั้งด้านวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย เป้าหมาย สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกสถานศึกษา เป็นต้น สรุปเป็นภาพเป้าหมายที่สถานศึกษาต้องการ

          ขั้นตอนที่ ๓ กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาและค่าเป้าหมาย
                   หลังจากที่สถานศึกษาได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมาตรฐานการศึกษาและตัวบ่งชี้ต่าง ๆ แล้ว สถานศึกษาดำเนินการสังเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้น เพื่อหลอมรวมกำหนดเป็นมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่ครอบคลุมมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานด้านผู้เรียน ด้านคุณภาพการจัดการศึกษา ด้านคุณภาพการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ด้านอัตลักษณ์ของสถานศึกษา และด้านมาตรฐานการส่งเสริม หรือ มาตรฐานด้านอื่น ๆ ที่สถานศึกษาอาจกำหนดขั้นเพิ่มเติมนอกเหนือมาตรฐานดังกล่าวข้างต้นก็ได้
                   ในการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษานั้น สถานศึกษาจะต้องพิจารณาสาระสำคัญที่จะกำหนดในมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่สะท้อนอัตลักษณ์และมาตรฐานการส่งเสริมของสถานศึกษาอย่างชัดเจนซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องกับจุดเน้น วิสัยทัศน์ ปรัชญา และแนวทางการจัดการศึกษาของสถานศึกษา โดยผ่านกระบวนการเห็นชอบร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา และสาระสำคัญที่กำหนดขึ้นมา จะต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษานั้น ๆ และต้องกำหนดค่าเป้าหมายความสำเร็จของแต่ละมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่สถานศึกษากำหนดขึ้น โดยค่าเป้าหมายความสำเร็จดังกล่าวอาจกำหนดในลักษณะเป็นเป้าหมาย เชิงปริมาณ เป้าหมายเชิงคุณภาพ หรือเป้าหมายเชิงปริมาณกับเชิงคุณภาพ ผสมผสานกันในแต่ละมาตรฐานและตัวบ่งชี้ ซึ่งค่าเป้าหมายที่กำหนดขึ้นจะต้องสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาด้วยการพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของสถานศึกษา และมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุผล
          การกำหนดค่าเป้าหมายความสำเร็จ จะต้องนำข้อมูลย้อนหลัง ๓ ปี ของสถานศึกษาไปประกอบ ตัวอย่างเช่น การกำหนดค่าเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ต้องนำผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ๓ ปี มาพิจารณา กรณีที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ให้ดูช่วงที่เพิ่ม ปี ๑ ปี ๒ ปี ๓ เพิ่มเท่าไร การกำหนดค่าเป้าหมายในปีต่อไปจะดูที่ความเหมาะสมและนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กรณีที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นในลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ ให้นำผลที่เพิ่ม หรือลงทั้ง ๓ ปี มาหาค่าเฉลี่ย(กำหนดฐาน)การกำหนดค่าเป้าหมาย เมื่อได้ฐาน(ค่าเฉลี่ย)แล้ว ก็ให้ดูนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบการกำหนดต่อไป

          ขั้นตอนที่ ๔ ตรวจสอบและทบทวนมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
                   การตรวจสอบและทบทวนมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาเป็นการพิจารณาทบทวนเนื้อหาสาระที่กำหนดในมาตรฐานและตัวบ่งชี้รวมถึงค่าเป้าหมายความสำเร็จที่สถานศึกษาได้กำหนดขึ้นว่าเหมาะสม ครอบคลุม สอดคล้อง เป็นไปได้ โดยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบ
          ขั้นตอนที่ ๕ ประกาศใช้มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
                   มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา เป็นเครื่องบอกทิศทางการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และสถานศึกษาโดยรวม ดังนั้น การนำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา เผยแพร่และแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกรับทราบด้วยรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม เช่นการแจ้งในที่ประชุม จดหมายข่าว ประกาศเสียงตามสาย ป้ายประชาสัมพันธ์ และแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่สังกัดทราบ

          มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่แต่ละสถานศึกษาได้จัดทำนั้น การมีส่วนร่วมในการจัดทำเป็นประเด็นสำคัญ สถานศึกษาควรให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเช่น ผู้บริหารครูทุกท่าน ตัวแทนชุมชน ตัวแทนนักเรียน ตัวแทนผู้นำทางจิตวิญญาณ(ศาสนา)ร่วมจัดทำมาตรฐานสถานศึกษาซึ่งมาตรฐานสถานศึกษาที่ออกมานั้นก็คือรูปร่าง ตัวตนของสถานศึกษาแต่ละแห่งเป็นการประกาศแนวทางในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา และประกันการจัดการศึกษาตามซึ่งผู้จบการศึกษาจะมีคุณลักษณะตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษานั้นเอง...

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีค่ะ การศึกษาเป็นยาวิเศษสำหรับเด็กชนบทค่ะ ขอบคุณค่ะ ตั้งใจเรียนกันเด็กๆๆ

    ตอบลบ