วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย บ่งบอกรากเหง้าและตัวตนคนไทย

          ขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นมรดกที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชนที่มีการสั่งสม และสืบต่อตกทอดกันไปไม่ขาดตอน ธรรมเนียมประเพณีจะสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญ ๓ ลักษณะคือ
          ความสัมพันธ์ระหว่างในครอบครัว เช่นการปฏิบัติตนระหว่าง พ่อ แม่ ลูก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับชุมชน ซึ่งจะมีกฎเกณฑ์เป็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามอย่างชัดเจน มีการแสดงออกทางพิธีกรรมและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การบายศรีสู่ขวัญ ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ เช่นการบูชาแม่โพสพ การแห่นางแมวขอฝน เป็นต้น
          สำหรับธรรมเนียมประเพณีสามารถเกิดและดับได้ เช่นเดียวกับสิ่งที่มีชีวิต เมื่อมีการขยายอำนาจ หรือการรุกรานทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยอาจเป็นลักษณะใด ลักษณะหนึ่ง ดังนี้
                   ถ้าธรรมเนียมประเพณีของฝ่ายผู้ถูกรุกรานด้อยกว่าฝ่ายผู้รุกราน ธรรมเนียมประเพณีของฝ่ายผู้ถูกรุกรานดับสูญไป
ถ้าธรรมเนียมประเพณีของฝ่ายผู้ถูกรุกรานเท่าเทียมกันกับฝ่ายผู้รุกราน ธรรมเนียมประเพณีของทั้งสองฝ่ายจะผสมผสานกันเกิดเป็นธรรมเนียมประเพณีใหม่ขึ้นมา
                    ถ้าธรรมเนียมประเพณีของฝ่ายผู้ถูกรุกรานเหนือกว่าฝ่ายผู้รุกราน ก็จะสามารถครอบงำและเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมประเพณีของฝ่ายผู้รุกราน ให้กลายเป็นธรรมเนียมประเพณีฝ่ายผู้ถูกรุกราน
                   กล่าวได้ว่า ชนชาติใดไม่สนใจหรือเฉื่อยชาในการอนุรักษ์ส่งเสริม และพัฒนาธรรมเนียมประเพณีของตนให้เจริญงอกงามอยู่อย่างสม่ำเสมอ ชาตินั้น ย่อมถูกชาติอื่นรุกรานและครอบงำทางธรรมเนียมประเพณี และอาจส่งผลทำให้ธรรมเนียมประเพณีของชาติสูญหายไปเลยจากสังคม

                   ชาติไทยมีมรดกล้ำค่าทางธรรมเนียมประเพณีอันเป็นพื้นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความมีอารยะธรรมอยู่มากมายเช่น
ประเพณีธรรมเนียมของราชสำนัก สิบสองเดือน ประกอบด้วย
พระราชพิธีเดือนอ้าย ได้แก่ พระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง และพระราชกุศลเทศน์มหาชาติ
พระราชพิธีเดือนยี่ ได้แก่ พระราชพิธีตรียัมปวาย พระราชกุศลถวายผ้าจำพรรษา
พระราชพิธี เดือนสาม ได้แก่ พระราชกุศลมาฆบูชา และพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน
 พระราชพิธีเดือนสี่ ได้แก่ พระราพิธีเกศากันต์ หรือการโกนจุก
พระราชพิธีเดือนห้า ได้แก่ การสังเวยเทวดา สมโภชเครื่องและเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ และพระราชพิธีสงกรานต์
พระราชพิธีเดือนหก ได้แก่ พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล
พระราชพิธีเดือนเจ็ด ได้แก่ พระราชกุศลสลากภัตร และพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา
พระราชพิธีเดือนแปด ได้แก่ พระราชพิธีเข้าพรรษา
พระราชพิธีเดือนเก้า ได้แก่ พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ และพระราชกุศลเสด็จถวายพุ่ม
พระราชพิธีเดือนสิบ ได้แก่ พระราชพิธีเข้าพรรษา
พระราชพิธีเดือนสิบเอ็ด ได้แก่ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน
พระราชพิธีเดือนสิบสอง ได้แก่ พระราชพิธีจองเปรียง

                   สำหรับธรรมเนียมประเพณีราษฎร์ จะแตกต่างกันออกไปตามภาคต่าง ๆ เช่น
                   ภาคเหนือ มีประเพณีสิบสองเดือนคือ
                             เดือนเกี๋ยง(ประมาณเดือนตุลาคม) ได้แก่ การออกวัสสา หรือ วสา(พรรษา) การทานขันข้าว หรือการตานกั๊วะข้าว การตานผ้าวัสสาหรือวสา(พรรษา) การตักบาตรเทโว และ การตานกฐิน หรือการทอดกฐิน
                             เดือนยี่(ประมาณเดือนพฤศจิกายน) ได้แก่ การตั้งธรรมหลวง การลอยโขมด(ลอยกระทง) การทานโคม และการลอยโคม
                             เดือนสาม (ประมาณเดือนธันวาคม) ได้แก่ การเกี่ยวข้าวเอาเฟือง การสู่ขวัญข้าว และการเข้าโสสานกัมม์
                             เดือนสี่(ประมาณเดือนมกราคม) ได้แก่การตานข้าวใหม่หรือ การตานดอยข้าว การตานข้าวจี่ ข้าวหลาม
                             เดือนห้า (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์) ได้แก่พิธีปอยน้อยปรือ ปอยลูกแก้ว
                             เดือนหก (ประมาณเดือนมีนาคม) ได้แก่พิธีปอยหลวง และพิธีปอยลากปราสาท หรือปอยล้อ
                             เดือนเจ็ด(ประมาณเดือนเมษายน) ได้แก่สงกรานต์
                             เดือนแปด(ประมาณเดือนพฤษภาคม) ได้แก่นมัสการพระเจ้าตนหลวง การนมัสการพระธาตุและสรงน้ำพระธาตุ
                             เดือนเก้า(ประมาณเดือนมิถุนายน) ได้แก่ การฟ้อนผีมด ผีเม็ง การเลี้ยงผี และจิบอกไฟ
                             เดือนสิบ(ประมาณเดือนกรกฎาคม) ได้แก่ การเข้าวัสสาหรือวสา(พรรษา) การถวายผ้าวัสสิกพัตร การถวายเทียนพรรษาการแฮกนาและการบูชาปุมต้างนา
                             เดือนสิบเอ็ด(ประมาณเดือนสิงหาคม) ได้แก่ การฟังเทศน์ ฟังธรรม การสู่ขวัญควาย การเอามื้อปลูกนา
                             เดือนสิบสอง(ประมาณเดือนกันยายน)ได้แก่การทานสลาก หรือการตานก๋วยสลาก และจาคะข้าว
                   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฮีตสิบสอง คือ
                             เดือนอ้าย(เดือนเจียง) เป็นงาน บุญเข้ากรรม
                             เดือนยี่ เป็นงาน บุญคุณลาน
                             เดือนสาม เป็นงาน บุญข้าวจี่
                             เดือนสี่ เป็นงาน บุญพระเวส
                             เดือนห้า เป็นงาน บุญสรงน้ำ หรือ บุญสงกรานต์
                             เดือนหก เป็นงาน บุญบั้งไฟและงานวันวิสาขบูชา
                             เดือนเจ็ด เป็นงาน บุญซำฮะ
                             เดือนแปด เป็นงาน บุญเข้าพรรษา
                             เดือนเก้า เป็นงาน บุญข้าวประดับดิน
                             เดือนสิบ เป็นงาน บุญข้าวสาก
                             เดือนสิบเอ็ด เป็นงาน บุญออกพรรษา
                             เดือนสิบสอง เป็นงาน บุญกฐิน
                   ภาคใต้ มีธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญ เช่น การแห่ผ้าขึ้นธาตุ การชักพระ การทำบุญสารทเดือนสิบ และการให้ทานไฟ ส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเพณีที่สำคัญ เช่นประเพณีเข้าสุหนัต วันฮารีรายอ งานกินเหนียว การแห่หมากพลู เพื่อเป็นเกียรติ
                   ภาคกลาง มีธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญ เช่น การรับบัวบางพลี งานกำฟ้า การตักบาตรดอกไม้ การวิ่งควายและการตักบาตรเทโว
          ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การดำรงอยู่ของขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นคือประชาชน ถ้าเมืองใด ถิ่นใดให้ความสนใจ ความสนใจที่ว่านี้ก็คือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป "เป็นการบ่งบอกรากเหง้าตัวตน"ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ การสิ้นสลายของประเพณีก็จะไม่ปรากฏ แต่เมื่อใดที่ขาดความเอาใจใส่ ดัดแปลงจนไม่หลงเหลือความเป็นตัวของตัวเองก็ถือว่าเป็นการจบสิ้นในประเพณีนั้น...และสุดท้ายก็หาที่มาที่ไปของตัวเองไม่เจอ...

1 ความคิดเห็น: