วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เมื่อปีใหม่....อีกครั้ง

     ในวาระดีถีขึ้นปีใหม่            ขออวยชัยให้ท่านจงสุขี
มีเงินทองเหลือใช้ตลอดปี            พบชีวีที่เป็นสุข...ตลอดกาล
               ขอขอบคุณ ทุกท่านที่ติดตาม    ดูบทความ อ่านบทกลอนที่เสนอ
       อาจจะผิดพลั้งบ้างเพราะเผลอเลอ    ช่วยเสนอแนะนำบ้างจักขอบคุณ...(ครับ)
           ผ่านไปแล้วสำหรับปี ๒๕๕๔  ปี ๒๕๕๕ กำลังย่างเข้ามา ที่ผ่านไป คืออดีต มีทั้งดี และไม่ดี สุข สมหวังผิดหวัง คละเคล้าปะปน หลายท่านที่ญาติมิตรต้องจากไป....อย่างไม่มีวันกลับ...นี้คือความเที่ยงแท้ของชีวิต ตามหลักความจริง ตามหลักธรรมชาติ เพราะเรา..ท่านยังก้าวไม่พ้นใน วัฏฏะสงสาร   เมื่อแต่ละปีผ่านไป ความมากด้วยประสบการณ์ ของแต่ละท่านก็มากขึ้น รอยประสบการณ์ปรากฏให้เห็นชัด แต่อยากฝากท่านผู้แวะมาเยี่ยมชมด้วยความเคารพทุกท่านว่า ชีวิตของคนเรานั้นสั้นนัก อย่าคิดว่ายังเด็กอยู่ อย่าคิดว่ายังหนุ่ม ยังสาวอยู่ ยังไม่แก่ ยังไม่ตายง่ายหรอก ยังอีกนาน ถ้าท่านคิดยังอย่างนี้อยู่ ท่านคิดผิด? พระพุทธเจ้าองค์ศาสดาของศาสนาพุทธ ท่านสอนว่า อย่าประมาท ฝากให้ทุกท่านไว้เป็นแง่คิด ก็ขอให้ศึกษานิเทศก์ทุกท่านและเพื่อนครูที่รักทุกคนมีความสุขในวันปีใหม่...ตลอดปี ๒๕๕๔ และเจอกันอีกครั้งในปีใหม่ครั้งหน้า ๒๕๕๖  ครับ ...
                                                             อภิชาติ ศรีภาค์                           
                                               ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๔

วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สิ้นแล้ว...กำลัง

สิ้นแล้ว..กำลัง
                   ยามเมื่อรัก รักกันปานจะกลืน      แสนสุขชื้นวันวานผ่านเร็วไฉน
          แม้จะเดินเยื้องย่างแห่งหนใด                 ก็คอยชิดคอยใกล้มิคลาดคลา
                   พอคืนวันผินผันผ่านเลยล่วง         ที่โชติช่วงด้วยรักเริ่มเหือดหาย
          กลับทิ้งนางต่อสู้อยู่เดียวดาย                  มีลูกชายตัวน้อยเจ้าคอยตาม
                   กระเสือกกระสนดิ้นรนเลี้ยงชีวิต    ถักพลาสติกพวงกุญแจ เฝ้าเร่ถาม
          เข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้เช้าเย็นยาม          ให้ครั้นคร้ามอนาคตที่มืดมัว
                   พวงกุญแจที่เร่ขายหมายเลี้ยงชีพ   เพื่อยืดชนยังชีพ..มิใช่ชั่ว
          แต่สังคมทุกวันเห็นแก่ตัว                      สิ้นแรงคว้าเป็นลม...ล้มกลางเมือง
                                                                                   ฅนจร
                                                                            ๑ มีนาคม ๒๕๓๙  
                   ความเป็นมา  อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่เท่าไรจำไม่ได้ แต่เป็นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ เป็นภาพเป็นข่าวในกรุงเทพฯเมืองหลวง ข่าวเสนอว่า มีแม่ลูกออกเร่ขายพวงกุญแจ และผู้เป็นแม่เป็นลมที่ริมถนน เนื่องจากความหิว  ก็ให้อเนจอนาถใจกับภาพข่าวที่เห็น ถ้าสังคมไทยเราเกื้อกูลช่วยเหลือกันเหมือนแต่ก่อน ปัญหาอย่างนี้อาจจะไม่มีให้เห็น แต่ด้วยสภาพสังคมแบบดั้งเดิม (ปฐมภูมิ) กำลังล่มสลาย ความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนไทย แตกต่างกันมากมาย เหมือนกราฟแท่ง สูง : ต่ำ อัตราหรือช่องว่างห่างกันมากเราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร เพื่อผู้ยากจนเหล่านั้นโดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจแบบ “ไหใหญ่ล้น ไหน้อยบ่เต็ม”ของไทยในปัจจุบัน
               ภาพประกอบจากเว็ป "พุทธทำนาย"

วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คำพ่อสอน


              วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทางราชการได้กำหนดให้เป็น วันพ่อแห่งชาติซึ่งพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยเพื่อพสกนิกรชาวไทยของพระองค์มาโดยตลอด จึงขอน้อมนำเอาพระบรมราชดำรัสบางช่วง บางตอน ที่เกี่ยวกับ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย มานำเสนอในยุคสมัยวัตถุนิยม...
                   ...ในสมัยปัจจุบันอาชีพเพาะปลูกนี้มีความสำคัญมาก เพราะการเพาะปลูกนี้เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์ ถ้าเราไม่มีการเพาะปลูกก็จะไม่มีวัตถุดิบที่จะมาเป็นอาหาร หรือเป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือเป็นสิ่งก่อสร้าง ฉะนั้นต้องทำการกสิกรรม...
                   (พระราชดำรัสพระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์นิคม ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่พฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑)
                   ...ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาการทดลองและทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากอยู่มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่าง ๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสันอีก ประการหนึ่ง ที่นานั้นเมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้ว ควรปลูกพืชอื่น ๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจำทำนาในฤดูต่อไป....
                   (พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชพระราชทานแก่กลุ่มชาวนา  พฤษภาคม ๒๕๐๔)
                   ....ข้าวต้องปลูก เพราะอีก ๒๐ ปี ประชากรอาจจะ ๘๐ ล้านคน ข้าวจะไม่พอถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก...
(พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จพระราชดำเนิน
ทอดพระเนตร โครงการโคกกูแวจังหวัดนราธิวาส พ.ศ.๒๕๓๖)
...ธนาคารข้าวให้มีคณะกรรมการควบคุมที่คัดเลือกจากราษฎรในหมู่บ้าน เป็นผู้เก็บ
รักษา พิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับข้าวคืน ตลอดจนจัดทำบัญชีทำการของธนาคารข้าว ราษฎรที่ต้องการข้าวไปใช้บริโภคยามจำเป็นให้คงบัญชียืมข้าวไปใช้จำนวนหนึ่ง..
                   เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้วก็นำมาคืนธนาคาร พร้อมด้วยดอกเบี้ย(ข้าว) จำนวนเล็กน้อยตามแต่ตกลงกัน ซึ่งข้าวเป็นดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะเก็บรวบรวมไว้ในธนาคารและถือเป็นสมบัติของส่วนรวม...ราษฎรต้องร่วมมือกันสร้างยุ้งที่แข็งแรง ทั้งนี้ หากปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ จำนวนข้าวที่หมุนเวียนในธนาคารจะไม่มีวันหมด แต่จะค่อย ๆ เพื่อจำนวนขึ้น และจะมีข้าวสำหรับการบริโภคตลอดไปจนถึงลูกหลาน ในที่สุดธนาคารข้าวจะเป็นแหล่งรักษาผลประโยชน์ของราษฎรในหมู่บ้าน และเป็นแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้านด้วย...
                   (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.๒๕๑๙)
                   พระราชดำรัสและพระราชโอวาทที่นำเสนอในที่นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งทึ่ทรงพระราชทานให้แก่ประชาชนชาวไทย นำมาซึ่ง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในกาลต่อมา  เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้หันกลับมามองตัวเอง หาจุดที่ตัวเองอยู่ ดูฐานะ เพื่อพัฒนาชีวิตตนเองและครอบครัวตามฐานะของแต่ละท่านแต่ละคน ไม่หลงฟุ้งเฟ้อ ไม่เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนธรรมชาติ และอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล...ขอพระองค์ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
(ที่มาจากหนังสือ ๘๔ คำสอนของพ่อ สิ่งที่ในหลวงมอบให้ปวงชนชาวไทย)

วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อานิสงส์ของศีล ๕

           ศีล ๕ หรือ เบญจศีล เป็นหลักธรรมประจำ สังคมมนุษย์ และเป็นหลักธรรมประจำสังคมที่มีมาก่อนพุทธกาลแล้ว ปรากฏใน จักวัตติสูตร ต่อเมื่อ พระโคดมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นและประกาศ พุทธศาสนา ก็ทรงยอมรับเอาข้อห้ามห้าประการตาม จักวัตติสูตร มาสั่งสอนในพุทธศาสนาอย่างแพร่หลาย เรียกว่า "ศีล" บ้าง "สิกขาบท" บ้าง เหตุที่เบญจศีลเป็นหลักธรรมสำหรับอุ้มชูโลก จึงได้รับสมญาต่าง ๆ อาทิ สมญาว่า "มนุษยธรรม" คือ ธรรมของมนุษย์ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์รักษาธรรมะห้าประการนี้แล้ว โลกหรือสังคมก็จะสงบสุข (วิกิพีเดีย)

อานิสงส์ของการรักษาศีล ๕
            อานิสงส์ของการรักษาศีล ๕ กล่าวไว้ในวิธีสร้างบุญบารมีพระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก กล่าวไว้ว่า
๑.      ผู้ที่รักษาศีลข้อ ๑ ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อน้อมนำมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะทำให้มีพลานามัยแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ไม่ขี้โรค อายุยืนยาว ไม่มีศัตรูเบียดเบียนให้ต้องบาดเจ็บ ไม่มีอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่จะทำให้บาดเจ็บ หรือสิ้นอายุเสียก่อนวัยอันสมควร
๒.      ผู้ที่รักษาศีลข้อ ๒ ด้วยการไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของมิได้เต็มใจให้ ด้วยเศษของบุญที่นำมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมทำให้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย การทำมาหาเลี้ยงชีพในภายหน้ามักจะประสบช่องทางที่ดี ทำมาค้าขึ้นและมั่งมีทรัพย์ ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปด้วยภัยต่าง ๆ เช่นอัคคีภัย วาตภัย โจรภัย ฯลฯ
๓.      ผู้ที่รักษาศีลข้อ ๓ ด้วยการไม่ล่วงประเวณีในคู่ครองหรือคนในปกครองของผู้อื่น ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะประสบโชคดีในความรัก มักได้พบรักแท้ที่จริงจังและจริงใจ ไม่อกหัก อกโรย และอกเดาะ ครั้นเมื่อมีบุตรธิดา ก็ว่านอนสอนง่ายไม่ดื้อด้านไม่ถูกผู้อื่นหลอกลวงฉุดคร่า อนาจารไปทำเสียหาย บุตรธิดาย่อมเป็นอภิชาตบุตรซึ่งจะนำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่วงศ์ตระกูล
๔.      ผู้ที่รักษาศีลข้อ ๔ ด้วยการไม่กล่าวมุสา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ จะทำให้มีเป็นผู้มีที่มีสุ่มเสียงไพเราะ พูดจามีน้ำมีนวลชวนฟัง มีเหตุมีผล ชนิดที่เป็น พุทธวาจา มีโวหารปฎิภาณไหวพริบในการเจรจา จะเจรจาความสิ่งใดก็มีผู้เชื่อฟังและเชื่อถือ สามารถว่ากล่าวสั่งสอนบุตรธิดาและศิษย์ให้อยู่ในโอวาทได้ดี  
๕.      ผู้ที่รักษาศีลข้อ ๕ ด้วยการไม่ดื่มสุราเมรัย เครื่องหมักดองของมึนเมา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้เป็นผู้ที่มีสมอง ประสาท ปัญญา ความคิดแจ่มใส จะศึกษาเล่าเรียนสิ่งใดแตกฉาน และทรงจำได้ง่ายไม่หลงลืมฟั่นเฟือนเลอะเลือน ไม่เสียสติ วิกลจริต ไม่เป็นโรคสมอง โรคประสาท ไม่ปัญญาทราม ปัญญาอ่อนหรือปัญญานิ่ม
              เพื่อนครูที่รักทุกท่านครับ 
                           "ชีวิตของเราจะตายวัน ตายพรุ่งไม่มีใครรู้ แต่ตอนที่เรายังมี ชีวิตอยู่ได้่พบพระพุทธศาสนา ได้เจอคำสอนของพระพุทธเจ้า้ ถ้าไม่จะขวนขวายฝึกฝนตนเอง ก็น่าเสียดายในชีวิตที่เกิดมา เพราะถ้าเราได้เกิดอีกครั้งก็ไม่รู้ว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์หรือไม่ หรือถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่รู้ว่าหลักธรรมคำสั่งสอนของพุทธองค์จะหลงเหลืออยู่หรือเปล่า ดังนั้นอย่าได้โปรดชะล่าใจ ฝึกฝนเจริญสมาธิเพื่อให้ได้สติปัญญาติดตัวไป เพื่อเป็นเสบียงบุญ(ทรัพย์ภายใน)ไว้เดินทางในภพภูมิหน้า...  
               สุดท้าย ก็คงจะฝากเพื่อนครูทุกท่าน ถือว่าเป็นภาระที่คุณครูเราต้องรับสำหรับงานสร้างคน ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในยุคของความมุสา แต่อย่างน้อยก็ควรจะปฏิบัติให้ได้ครบทั้ง ๕ ข้อ นะครับ
                             

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระเจ้าใหญ่สามภพ


ขอทำหน้าที่พุทธศาสนิกชน เชิญชวนผู้ใจบุญร่วมกันสร้าง "พระเจ้าใหญ่สามภพ"เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนาให้มีอายุครบ 5,000 ปี.
ขอเชิญชวน พุทธศาสนิกชน
ทั้งในและนอกประเทศ ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบทุน สร้าง
พระพุทธศรีสัตตนาคา อริยะวิสุทธาธิบดี ศรีโลกนาถ
(พระเจ้าใหญ่สามภพ)
หน้าตักกว้าง 9 เมตร สูง 36 เมตร
เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ประดิษฐาน ณ วัดมงคลโกวิทาราม(ห้วยวังนอง) ตำบลปทุม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 
ร่วมบริจาคสมทบทุน ได้ที่
สำนักงานโครงการฯ วัดมงคลโกวิทาราม (ห้วยวังนอง) 
ต.ปทุม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
หรือ
โอนเข้าบัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนสรรพสิทธิ์ (ออมทรัพย์)
เลขที่บัญชี 322-0-19602-0
โทร.  045-250505, มือถือ 081-2665995
พระครูสิริสุวิมล
ประธานฝ่ายบรรพชิต
พลตรี นรินทร์ มุทุกันต์
ประธานฝ่ายคฤหัสถ์
อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป
               การจัดสร้างพระพุทธรูปหรือสิ่งพิมพ์อันเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนเป็นกุศลดังนี้
                        1. อกุศลกรรมในอดีตชาติแต่ปางก่อน  จะเปลี่ยนจากหนักเป็นเบา จากเบาเป็นสูญ
                        2. สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง  สรรพภยันตรายสลาย
                        3. เจ้ากรรมนายเวรในอดีตชาติแต่ปางก่อน เมื่อได้รับส่วนบุญไปแล้ว ก็จะเลิกเว้นการจองเวร
                        4. เหล่ายักษ์ผีรากษส  งูพิษ เสือร้าย  ไม่อาจเป็นภัย
                        5. จิตใจสงบ ปวงภัยไม่เกิด ฝันร้ายไม่มี ราศีผ่องใส สุขภาพแข็งแรง กิจการงานเป็นมงคล
   6. มั่นคงในคุณธรรม ความอุดมสมบูรณ์ปรากฎเกินความคาดฝัน  ครอบครัวสุขสันต์ วาสนายั่งยืน
                        7. คำกล่าวเป็นสัตย์ ฟ้าดินปราณี ทวยเทพยินดี มิตรสหายปรีดา
                        8. คนโง่สิ้นเขลา คนเจ็บหายได้ คนป่วยหายดี  ความทุกข์หายเข็ญ สตรีจะได้เกิดเป็นชาย
                        9. พ้นจากมวลอกุศล เกิดใหม่บุญเกื้อหนุน มีปัญญาเลิศล้ำ บุญกุศลเรืองรอง
                        10. สิ่งที่สร้างจะบังเกิดเป็นกุศลจิตแก่ทุกคนที่ได้พบเห็น  เป็นเนื้อนาบุญอย่างอเนกทุกชาติของผู้สร้างที่เกิด  จะได้ฟังธรรมจากพระอริยเจ้า  ปัญญาในธรรมแก่กล้า สามารถได้อภิญญาหก สำเร็จโพธิญาณ
                        การจัดสร้างพระพุทธรูปและสิ่งพิมพ์เป็นกุศลดังกล่าว ฉะนั้นในงานวันเกิด งานมงคลต่างๆ กาฉลองยศหรือตำแหน่ง การทำบุญสะเดาะเคราะห์ หรือขอพร การขอขมาลาบาปตลอดจน การอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น  หากได้สละทรัพย์สินเงินทอง  เพื่อจัดกิจการดังกล่าวด้วย  ก็จะเป็นผลานิสงส์สืบต่อไป

วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ตะวันส่องแสง


                                         เมื่อดวงเดือนเคลื่อนคล้อยลอยลับล่วง
                               ที่โชติช่วงแทนดวงแขแลเฉิดฉัน
                               เป็นดวงจิตดวงใจ...สายสัมพันธ์
                               เป็นตะวันส่องแสงแห่งป่าดง
                                       ด้วยดวงจิตดวงใจไหล..หลั่งล้น
                              ปัญญาชนศรัทธาเยี่ยมเปี่ยมประสงค์
                              หวังเผื่อแผ่ความเท่าเทียมให้เที่ยงตรง
                             ถึงอยู่ดงอยู่ป่าก็...มวลชน
                                      แม้ดวงเดือนเคลื่อนคล้อยลอยลับล่วง
                             ถึงวันล่วงเดือนลับใช่...สับสน
                            ดวงตะวันยังส่องแสงแข่งมืดมน
                            กลางใจชน คนโนนสูง นิรันดร์กาล
                                      เพลงพิณพาทย์ดังก้องซ้องแซ่เสียง
                           สรรพสำเนียงลำนำคำกล่าวขาน
                           บทคำกล่าวสรรเสริญ...เอื่อนเอยนาน
                            เป็นตำนานบอกเล่า...ต่อกันไป
                                                                   "ฅนจร"
      ตำนานบทกลอน
          เป็นบทกลอนที่แต่งเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๙ ที่โรงเรียนบ้านโนนสูง วันนั้นได้เดินทางไปกับท่านอาจารย์ประภัศร์ งามเถื่อน เพื่อร่วมงานรับมอบอาคารเรียน “ตะวันส่องแสง” จากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกค่ายพัฒนา อาคารที่รับมอบเป็นอาคารชั้นเดียวก่อด้วยอิฐหลังคามุงสังกะสีขนาด กว้าง ๘ เมตร ยาว๑๖ เมตร โรงเรียนบ้านโนนสูง กลุ่มหนองนกทา อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ในขณะนั้นมีนายไพบูลย์ จันทรักษาเป็นครูใหญ่ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีครู ๓ คน รวมผู้บริหาร มีบางครั้งที่ได้ไปสอนนักเรียนเมื่อออกนิเทศโรงเรียนแต่ไปเจอห้องเรียนที่ครูไปราชการสงสารเด็กที่มาเรียนแต่ไม่ได้เรียน

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ต้นไม้คุณธรรม

       
         การเปิดเรียนภาคเรียนที ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่วันที ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ แต่มีบางโรงเรียนก็ได้เปิดเรียนไปก่อนแล้ว การเปิดเรียนก่อนเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเป็นเรื่องที่ดี ปัญหาของการจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ ๒ ของทุกปี จะตกไปอยู่ที่โรงเรียนที่เปิดชั้นมัธยมศึกษาขยายโอกาสเพราะเด็กที่จะไปเรียนต่อ แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นเฉพาะขยายโอกาสอย่างเดียว โรงเรียนที่เปิดสอนในระดับประถมศึกษาก็ต้องมีการวางแผนในเรื่องนี้ให้ดี เพราะเด็กนักเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ จะต้องไปเรียนต่อเช่นกัน และภาคเรียนนี้กิจกรรมมีมากเป็นพิเศษ เช่น การแข่งขันกีฬากลุ่มสถานศึกษา งานวันเด็ก การเดินทางไกลและเข้าค่ายพักแรมลูกเสือ การสอบ NT สอบ O – net การประกวดมหกรรมในระดับภาคที่จะจัดประกวดที่จังหวัดมหาสาคาร ในวันที่ ๒๗ - ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ ซึ่งกิจกรรมที่มีมากอย่างนี้ จะส่งผลไปลงที่เด็กในด้านการเรียนการสอนที่อาจจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนอาจจะไม่จบตามหลักสูตรที่กำหนดไว้

          ก่อนปิดภาคเรียนที ๑ ได้รับแต่งตั้งจาก สพป.อบ.๓ ให้เป็นคณะกรรมการประกวดห้องสมุด ประกวดครูบรรณารักษ์ ประกวดนักเรียนที่ดีเด่นด้านการอ่าน ได้ไปพบไปเห็นห้องสมุดซึ่งส่งเข้าประกวด การประกวดได้แบ่งเป็นขนาด มีขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ โรงเรียนได้พัฒนาห้องสมุดเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เด็กได้ศึกษาค้นคว้า ซึ่งการบริหารจัดการห้องสมุดมีเกณฑ์ในการจัดการอย่างชัดเจน ทั้งนี้ได้มีการพัฒนาครูบรรณารักษ์ และประชุมชี้แจงให้ผู้บริหารได้รับทราบซึ่งผลการประกวดคงรับทราบกันไปแล้ว
          กิจกรรมในห้องสมุดที่พบที่เห็นนอกจากเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมในเรื่องของการอ่านแล้ว โรงเรียนยังได้นำเสนอกิจกรรมโดยการจัดนิทรรศการ นำโครงงานที่นักเรียนได้จัดทำมานำเสนอ       

           โครงงานคุณธรรม เยาวชนไทยทำดี ถวายในหลวงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่พบเห็น กันแทบทุกโรงเรียน ทั้งนี้ขอเรียนผู้บริหารและคุณครูที่ดูแลทุกท่านว่า โครงงานคุณธรรม เยาวชนไทยทำดี ถวายในหลวง นั้น เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กนักเรียนฝึกทำคือเด็กทำเอง คุณครูเป็นเพียงที่ปรึกษาให้คำแนะนำ ไม่ใช่ครูเป็นคนทำแล้วให้นักเรียนเป็นผู้นำเสนอ ซึ่งผิดไปจากเป้าหมายของโครงการที่กำหนดไว้ โครงงานที่ทำควรทำอย่างต่อเนื่องและมีการส่งต่อรุ่นไปเรื่อย ๆ มีเครือข่ายทั้งจากชุมชน จากตัวแทนศาสนา ควรประสานและให้ความร่วมมือกันทุกภาคส่วน เรื่องนี้คงฝากไว้กับผู้บริหารโรงเรียน และครูที่ปรึกษาที่ดูแลโครงงานแต่ละโรงเรียน

          โครงงานต้นไม้คุณธรรม เป็นโครงงานที่โรงเรียนได้จัดทำกันมาก ดูได้จากกลุ่มเครือข่ายส่งเข้าประกวดในระดับเขตพื้นที่ และในระดับกลุ่มโรงเรียน หลักการของโครงงานนี้มีอยู่ว่า ต้องการให้นักเรียนได้แก้ไขคุณธรรมที่นักเรียนยังบกพร่อง โดยการเขียนคุณธรรม(พฤติกรรม) ที่นักเรียนต้องการแก้ไข  เช่น หนูจะไม่พูดคำหยาบ ผมจะช่วยพ่อแม่ทำงาน ฯลฯ ไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ที่เรียกว่าต้นไม้คุณธรรม(ต้นไม้พลาสติก) เมื่อคุณธรรม(พฤติกรรม)ที่เด็กเขียนฝากไว้ที่ต้นไม้คุณธรรมผ่าน(โดยการประเมิน) ก็ให้หาสิ่งที่ต้องการแก้ไขมาตั้งสัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่ทำอีก หรือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องตั้งใจทำ ต้องการแก้ไขความบกพร่องของตนเอง ในคราวต่อไปมาเขียนแขวนไว้และตั้งจิตตั้งใจทำ ปรับปรุง หรือแก้ไข ระยะเวลาของการปรับพฤติกรรมที่เด็กแต่ละคนต้องการเขียนไว้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมจะไม่เท่ากัน ซึ่งสิ้นปีพฤติกรรมหรือคุณธรรมที่เด็กแต่ละคนต้องการปรับเปลี่ยนจะไม่เท่ากัน
          สิ่งที่จะช่วยให้โครงงานนี้บรรลุผลได้นั้นขึ้นอยู่กับการเป็นขั้นเป็นตอน การมีส่วนร่วมของบ้าน วัด โรงเรียน ส่วนของบ้านนั้น ผู้ปกครองต้องรับรู้รับทราบด้วยว่า เด็กได้ให้คำสัญญาว่าอย่างไร วัด(พระ)มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านพิธีการ คือก่อนที่จะให้เด็กนำพฤติกรรมที่เขียนเพื่อแก้ไขไปแขวนจะต้องมีพิธีกรรมเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เกิดความยำเกรง กระตุ้นให้นักเรียนจะได้ตั้งใจ(สัตย์ปฏิญาณ)ในการปฏิบัติตามที่เขียนไว้ โรงเรียนซึ่งก็เป็นนักเรียนเป็นผู้ทำ ผู้ปฎิบัติ ส่วนครู ผู้บริหาร ต้องคอยกำกับและแนะนำให้บรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งทั้ง ๓ ภาคส่วนนี้ จะเป็นหลักในการประเมินความสำเร็จของโครงงานต้นไม้คุณธรรม
          เริ่มภาคเรียนใหม่ ถึงแม้จะเป็นภาคเรียนที่ ๒ แต่ความยิ่งหย่อนในการเรียนการสอนคงไม่ยิ่งหย่อนไปมากกว่าภาคเรียนแรก การเรียนเป็นการพัฒนาชีวิต พัฒนาจิตวิญญาณ ความรู้ที่มีใช่ว่าจะติดตัวแค่ในปัจจุบัน แต่ภูมิรู้จะคงฝังในจิตเป็นฐานให้กับชีวิตต่อไป ก็ยังคงเป็นกำลังใจให้เพื่อนครูทุกท่านที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับความไม่รู้ สร้างสรรค์เด็กให้เป็นคนที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น...

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ทำ...ธรรม


                                                            
                                                       ..การเกิดแก่ เจ็บตาย เป็นนายโลก        
                        แต่ทุกข์โศกที่เกี่ยวเกาะเพราะลิขิต
                                  อย่าโทษเวร โทษกรรม นำชีวิต         
                                   แล้วปล่อยจิต ปล่อยใจ ไปตามกาล
                                                     ..เมื่อเกิดกาย เป็นมนุษย์รู้ผิดชอบ 
                                  ใช่จะกอบ ใช่จะโกย ใช่จะผลาญ
                                  เมื่อทำดี กรรมดี ย่อมอยู่นาน           
                                  ให้ลูกหลาน ได้ชื่นชอบ ได้เชยชม
                                                     ..เมื่อจะคิด คิดจะทำ นำคนอื่น     
                                  จะต้องฝืน จะต้องหยุด ให้เหมาะสม
                                  สมกับนำ สมตั้งจิต คิดปรารมภ์                  
                                 ให้ชนชม ในแบบอย่าง ทางที่ดี
                                                    ..เมื่อเกิดกาย เป็นมนุษย์ รู้ผิดชอบ   
                                 อย่ามัวกอบ อย่ามัวโกย โดยหลีกลี้
                                 คิดหลบธรรม มองเห็นชั่ว ว่าสิ่งดี                  
                                 จวบเจียนที่ จะสิ้นลม ฤาพบธรรม
                                                     ..ถ้าเกิดแก่ เจ็บตาย คือนายโลก     
                                 ควรใช้ธรรม นำโลก ให้สุขล้ำ
                                 ทำโดย...ธรรม.. นำทาง เป็นประจำ                  
                                 ความเลื่อมล้ำ แปลกแยก จะผ่อนคลาย
                                                          คนจร
                                                   ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๙
                                                          ห้วยขะยุง               
              ความเป็นมา  บทกลอน ทำ...ธรรม เป็นบทกลอนที่แต่งเพื่อลงในจุลสาร "นิเทศสัมพันธ์" เพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดจากการให้ความดีความชอบในระบบราชการ "นิเทศก์สัมพันธ์"เป็นจุลสารที่ทำหน้าที่สื่อกลางระหว่างครู กับ หน่วยศึกษานิเทศก์ ในช่วงที่ไปเป็นศึกษานิเทศก์ที่อำเภอเขมราฐ ณ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเขมราฐซึ่งในช่วงที่อยู่นั้น(ปี ๒๕๓๗ - กันยายน ๒๕๔๕)  หน่วยศึกษานิเทศก์สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเขมราฐมีศึกษานิเทศก์ในขณะนั้นมีศึกษานิเทศก์ จำนวน ๔ ท่านประกอบด้วย ศน.ปัญญา เพชราเวช เป็นหัวหน้าหน่วย  ท่าน ศน.ประภัศร์ งามเถื่อน  ศน. สุระ วงศ์มา และ ศน.อภิชาติ ศรีภาค์             

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สังฆทานนิเทศก์


          กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพป.อบ.๓ โดยการนำของ นายอภินันท์ บุญรอด และ นายมัธยม เรืองแสน รองผอ.สพป.อบ.๓ รวมทั้งศึกษานิเทศก์ สพป.อบ.๓  ได้ร่วมกันไปถวายสังฆทานที่วัดดอนธาตุ ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ การถวายสังฆทานในครั้งนี้ ได้นำอาหารไปถวาย และปัจจัยที่ได้รวบรวมจากศึกษานิเทศก์ทุกท่าน เนื่องในกาลเข้าพรรษาประจำปี ๒๕๕๔
เจดีย์พิพิธภันฑ์ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโร
          วันดอนธาตุ (เดิมชื่อวัดเกาะแก้วพระนอนคอนสวรรค์วิเวกพุทธกิจศาสนา) ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำมูล ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระอาจารย์พินิจ ปภสฺสโร
พระอาจารย์พินิจ ปภสฺสโร เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน
                   ผู้ก่อตั้งวัดดอนธาตุคือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโร ปฐมปรมาจารย์สายพระกัมมัฎฐาน ทั้งนี้ขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลวัดดอนธาตุนำประวัติของวัดและประวัติของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโร มานำเสนอให้ผู้ที่สนใจได้ทราบพอสังเขปดังนี้
หลวงปู่เสาร์ กนฺฺสีโร
         หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโร เกิดเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๓ ที่บ้านข่าโคม ตำบลปะอาว(หนองขอน) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ท่านบรรพชาเมื่ออายุ ๑๒ ปี ณ วัดใต้ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อายุครบ ๒๐ ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ขณะที่อุปสมบทได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอมอักษรไทยน้อย และหนังสือไทย
          ในสมัยรัชการที่ ๔ พระองค์ได้ก่อตั้งคณะธรรมยุต ซึ่งขณะนั้นคณะธรรมยุตได้แผ่ขยายไปสู่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดแรกในภาคอีสาน โดยวัดธรรมยุตวัดแรกของจังหวัดอุบลราชธานี คือวัดสุปัฎนาราม ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโร มีศรัทธาเลื่อมใส จึงได้อุปสมบทญัตติเป็นพระธรรมยุตโดยมีพระครูทา โชติปาลเณร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูศรีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม)
          พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ได้บันทึกเกี่ยวกับหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโร ไว้ว่า นิสัยท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโร นั้น ชอบก่อสร้าง ชอบปลูกพริกหมากไม้ ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหาร มีเมตตาเป็นสาธารณะ เป็นคนพูดน้อย ยกจิตขึ้นสู่องค์เมตตาสุกใสรุ่งเรืองเป็นคนเอื้อเฟื้อในพระวินัย ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งไม่หย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิธรรมละเอียดมาก ท่านบอกให้เราภาวนาเปลี่ยนอารมณ์แก้อาพาธได้ อยู่ข้างนอกวุ่นวาย เข้าไปหาท่านจิตสงบดี เป็นอัศจรรย์ปาฎิหาริย์หลายอย่าง จิตของท่านชอบสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หมากไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ ทนแดดังเป็นอุปัชฌายะฯ เดินจงกรมภาวนาเสมอ ไม่ละกาล น้ำใจดี ไม่เคยโกรธ เคยขึ้งให้พระเณร อุบาสก อุบาสิกา มักจะวางสังฆทานอุทิศให้สงฆ์สันติบาตรแก้วิปัสสนูแก่สานุศิษย์ได้ อำนาจวางจริตเฉย ๆ เรื่อย ๆ ชอบศึกษาตำราเรื่องพระพุทธเจ้า รูปร่างใหญ่สันทัดเป็นมหานิกายสิบพรรษา จึงมาญัตติเป็นธรรมยุต รักเด็ก เป็นคนภูมิใหญ่ กว้างขวาง ยินดี ทั้งปริยัติปฏิบัติ ลักษณะเป็นคนโบราณพร้อมกาย วาจา ใจ ไม่เห่อตามลาภยศ สรรเสริญ อาหารชอบเห็ด ผลไม้ตาง ๆ และน้ำผึ้ง
          แสดงเส้นทางธรรมของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโร 
          ธรรมะพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโร ให้พากันละบาป บำเพ็ญอย่าให้เสียลมหายใจไปเปล่าที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และ เราเกิดเป็นมนุษย์มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมายอย่าพากันทำ
          พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโร ท่านมีคติว่า เขาสิเชื่อความดีที่เฮาเฮ็ดหลายกว่าคำเว้าที่เฮาสอน
โบสหลังเก่าวัดอำมาตย์ ประเทศลาว ที่หลวงปู่เสาร์กราบไหว้ครั้งสุดท้ายก่อนมรณภาพ
         การเดินทางไปวัดดอนธาตุต้องอาศัยเรือข้ามฟาก ซึ่งทางวัดได้จัดเรือไว้บริการสำหรับพุทธศาสนิกชนที่ไปทำบุญที่วัดตลอด รวมทั้งการออกบิณฑบาตรก็ต้องอาศัยเรือ
คณะกลุ่มนิเทศก์ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพป.อบ.๓ 
ที่ร่วมกันถวายสังฆทานเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๔
คณะถวายสังฆทานร่วมกันถ่ายรูปกับเจ้าอาวาส วัดดอนธาตุ
ทำบุญเสร็จก็รับพรและน้ำพุทธมนต์
รับของที่ระลึก(วัตถุมงคล)จากเจ้าอาวาส
    แหล่งข้อมูล จากหนังสือท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร วัดดอนธาตุ พิมพ์ที่โรงพิมพ์นพรัตน์ กรุงเทพฯ
บุญแห่งการถวายสังฆทาน
               การถวายสังฆทาน เป็นพิธีกรรมที่ทำกันอย่างแพร่หลายด้วยเป็นการทำบุญที่บ่งบอกถึงความเชื่อในการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ให้กับตนเอง ทั้งภายในชาตินี้และชาติหน้ารวมถึงบางครั้งยังเปรียบเสมือนการสะเดาะห์เคราะห์ให้กับตนเองและทำให้จิตใจผ่องใส สบายใจ มากขึ้น
              การถวายสังฆทาน หมายถึง การถวายทานแด่พระสงฆ์โดยมิได้กำหนดหรือจำกัดพระสงฆ์ผู้รับ ผลบุญของการถวายสังฆทาน จะดลบันดาลให้ผุ้กระทำบุญ ประสบแต่ความเจริญยิ่งขึ้นไป อุดมสมบุรณ์ด้วยลาภ ทรัพย์สมบัติ เมื่อสิ้นชีวิตในชาตินี้ไม่ว่าเมื่อเกิดชาติไหน ก็จะพบกับความสุข ความเจริญ มีแต่ความมั่นคง บริบูรณ์ด้วยลาภ ยศ ฐานะต่าง ๆ และยังดลบันดาลให้พ้นทุกข์ พ้นโศก และได้เสวยสุขสมบัติ ๓ ประการคือ มนุษย์สมบัติ สวรรคสมบัติ และนิพพานสมบัติ จนล่วงพ้นสิ้นอายุขัยในการเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา สถิตอยู่บนวิมานทองบนสวรรค์  
กรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ญาติผู้ล่วงลับ

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

การประกวดโครงงานคุณธรรม ปี ๒๕๕๔

นายอภินันท์ บุญรอด รองผอ.สพป.อบ.๓ เปิดการประกวดโครงงาน        
             เมื่อวันที่ ๖,,๙ กันยายน ๒๕๕๔ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา       อุบลราชธานี เขต ๓ ได้จัดประกวดโครงงานคุณธรรม "เยาวชนไทยทำดี ถวายในหลวง" ประจำปีั ๒๕๕๔ ณ ห้องประชุมแก่งสะพือ สพป.อบ.๓ โดยมี นาย อภินันท์ บุญรอด รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นประธานใน พิธีเปิดการประกวดได้แบ่งออกเป็น ๓ วัน โดยแยกเป็น
            วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๔ เป็นการประกวดในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ - ๓
            วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๔ เป็นการประกวดในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ - ๖ 
            วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๔ เป็นการประกวดในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ - ๓
โรงเรียนบ้านห้วยหมาก
         ผลการประกวดได้ประกาศให้ทราบไปแล้ว ทั้งนี้จะได้นำเสนอในส่วนของโครงงานที่ชนะเลิศและรองชนะเลิศ ๒ อันดับ
         ระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ - ๓ ชนะเลิศคือ โครงงาน รักนวลสงวนตัว คือหัวใจของวัยรุ่นยุคใหม่ "อยากเห็นเธอ งดงามตามวัย"โรงเรียนบ้านหนองกุง รองชนะเลิศอันดับ ๑ โครงงานนิทานคุณธรรม นำวินัย ใฝ่สามัคคี ทำดีถวายพ่อหลวง โรงเรียนบ้านพลาญชัย  รองชนะเลิศอันดับ ๒ โครงงาน๑๐ กิจกรรมทำดีเพื่อสังคมไทยร่มเย็น โรงเรียนบ้านนาโพธิ์ใต้
โรงเรียนบ้านนาโพธิ์ใต้
          ระดับประถมศึกษาปีที่ ๔ ชนะเลิศคือ โครงงาน หลักธรรมนำใจ วัยใส ไร้สิ่งเสพติด เทิดไท้องค์ราชันย์ โรงเรียนบ้านนาเจริญ รองชนะเลิศอันดับ ๑ โครงงานเมล็ดพันธ์แห่งความดี โรงเรียนบ้านวังพอก รองชนะเลิศอันดับ ๒ โครงงานนวดแผนไทย สานสายใย ใส่ใจคนรอบข้าง โรงเรียนบ้านป่ากุงใหญ่
          ระดับประถมศึกษาปีที่ ๑ ชนะเลิศคือ โครงงาน เยาวชนไทยใส่ใจครอบครัว โรงเรียนบ้านคำบง รองชนะเลิศอันดับ ๑ โครงงานจิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชน โรงเรียนบ้านปากบุ่ง รองชนะเลิศอันดับ ๒ โครงงานโรงเรียนสะอาดสดชื้น เราสดชื้นเบิกบาน โรงเรียนบ้านนาโพธิ์กลาง
โรงเรียนบ้านคำบง
            รางวัล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต ๓ จะมอบรางวัลเป็นโล่ ให้กับโรงเรียนที่ชนะเลิศและรองชนะเลิศอันดับ ๑และ๒พร้อมเกียรติบัตร โรงเรียนทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมประกวดจะได้รับเกียรติบัตร อนึ่ง ได้จัดรางวัลดังกล่าวให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมประกวดในปี ๒๕๕๓ เช่นกัน
            การประกวดโครงงานในปีนี้ โรงเรียนที่ชนะเลิศในระดับประถมศึกษาทั้ง ๒ โรงเรียนคือ โรงเรียนบ้านนาเจริญ และโรงเรียนบ้านคำบง จะได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมงานมหกรรมนักเรียนที่จังหวัดมหาสารคามปี ๒๕๕๔ 
โรงเรียนบ้านนาเจริญ
         วันที่ประกวดโครงงานคุณธรรม ได้มีการปรับเปลี่ยนโรงเรียนที่เข้าประกวด ในระดับมัธยมศึกษา ตามที่กำหนดในครั้งแรกเป็นวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๔ แต่เนื่องจากโครวงานที่ชนะเลิศจะต้องเข้าร่วมประกวดในระดับภาคสงฆ์จึงเลื่อนมาประกวดในวันที่ ๖ ส่วนเดิมวันที่ ๖ เป็นการประกวดในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ - ๓ ก็สลับเป็นประกวดในวันที่ ๙ 
อภิชาติ ศรีภาค์  
ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.อบ.๓