วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การศึกษาโดยประชาชน... เพื่อประชาชน(พูดให้คิด)

                
                 เริ่มต้นปีการศึกษา ๒๕๕๕ สิ่งที่เป็นภาระสำหรับผู้ปกครองมากในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ คือ การซื้อเครื่องแบบนักเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียนของลูกหลาน หนังสือเรียนนั้นแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี มีการจัดซื้อหนังสือเรียนในสถานศึกษาเพื่อให้นักเรียนได้ยืมเรียนเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองไปได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ทั้งหมด หนังสือเรียนนักเรียนไม่ได้ซื้อก็จริง แต่สิ่งที่มาประกอบในการเรียนอย่างอื่น เช่น แบบฝึกหัดในแต่ละสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดขึ้นมาใช้ บางสถานศึกษาก็มีค่าจ้างครูต่างชาติมาสอน ฯลฯ  เหล่านี้ล้วนเป็นภาระของผู้ปกครองทั้งสิ้น

                   สถานศึกษาหลายแห่งกำหนดให้นักเรียนต้องซื้อแบบฝึกหัดที่มีเนื้อหาและแบบฝึกในตัว แต่ละสาระการเรียนรู้ ควบคู่กับหนังสือเรียน สิ่งที่สถานศึกษาต้องพิจารณามากเป็นพิเศษก็คือ ความเหมาะสม ไม่ใช่เพื่อความสะดวกของคุณครูในการจัดการเรียนการสอน แต่ผลกระทบมันมีมากมาย ผลกระทบสำหรับผู้ปกครองคือ ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งฐานรายได้ของผู้ปกครองแต่ละครอบครัวแตกต่างกันผลกระทบก็แตกต่างกัน ผลกระทบสำหรับนักเรียนคือ ต้องมีกระเป๋าที่ใหญ่ขึ้นหนักขึ้น แต่ละวันสะพายกระเป๋าไปโรงเรียนจนหลังแอ่น  ผลกระทบกับโรงเรียนคือ เนื้อหาสาระของหนังสือที่เลือกให้นักเรียนซื้อหรือเลือกเรียนหรือประกอบการเรียน ตรงกับหลักสูตรสถานศึกษาหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อการเรียนการสอน การสอบ และการจบช่วงชั้นของนักเรียน

                   การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนนั้น อยากให้คุณครูได้ชำเลืองดูหลักสูตรของสถานศึกษาให้มาก ๆ ดูว่าสถานศึกษาของเราได้กำหนดหน่วยการเรียนรู้แต่ละสาระการเรียนรู้ไว้อย่างไร ประเด็นที่พบคือ การสอนที่ยึดแบบเรียนสำเร็จรูปที่โรงเรียนกำหนดให้ซื้อมากกว่าหนังสือเรียนที่แจก การเรียนการสอนจบเมื่อปลายปี แต่เป็นการจบตามแบบเรียนสำเร็จรูปไม่ใด้จบตามหลักสูตรของสถานศึกษา สุดท้ายก็มีผลต่อการสอบ ในระดับชาติอย่างเช่น O – Net หรือ หรือการประเมิน PISA ซึ่งเรื่องนี้ จะทิ้งปัญหาเรื่องนี้ไปให้ฝ่ายวิชาการก็ไม่ได้ ผู้บริหารและคุณครูทุกคนรวมทั้งคณะกรรมการสถานศึกษา ต้องรับทราบปัญหา และหาทางแก้ไขร่วมกัน

                   สำหรับในการสอบ O – Net โรงเรียนทุกแห่งคงทราบผลไปแล้ว ในภาพรวมผลการสอบเฉลี่ยแล้วสูงขึ้น มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ยากฝากโรงเรียนก็คือ เราจะนำผลการสอบที่ทราบแล้วนี้ไปยกระดับผลสัมฤทธิ์ในโรงเรียนให้สูงขึ้นได้อย่างไร อยากให้โรงเรียนนำผลการสอบมาพิจารณาร่วมกันว่า มีเนื้อหาส่วนไหนที่สถานศึกษาของเรา นักเรียนของเรายังต่ำ ยังบกพร่อง การเรียนการสอนยังไม่ครอบคลุม มาปรับปรุงในเรื่องการเรียนการสอนของครู แนวทาง หรือวิธีการที่ใช้สอนในปีที่ผ่านมามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร จะปรับปรุงตรงไหน ปรับปรุงอย่างไร แล้วบันทึกหลังสอนที่บันทึกไว้ในบันทึกการสอน ปีนี้ควรเอามาพิจารณาปรับให้ตรงกับประเด็นที่ต้องแก้ไข
                   ในส่วนของการนำผลการสอบเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน(สพฐ.) นั้น ทางสพฐ.ต้องการใช้ผลการสอบโอเน็ตมาประกอบการจบช่วงชั้นในปีการศึกษา ๒๕๕๕โดยสพฐ.เสนอแนวทางในการนำผลการสอบ O – Net มาใช้ดังนี้
                   ๑.ให้ O – Net เป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ในการจบการศึกษาตามเกณฑ์ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)ในระดับพอใช้ หรือร้อยละ ๒๐ ขึ้นไป
                   ๒.ใช้คะแนน O – Net เป็นส่วนหนึ่งในการจบตามหลักสูตร ในอัตราผลการเรียนระหว่างเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรหรือจีพีเอเอ็กซ์ ต่อผลคะแนน O – Net เช่น ๘๐ : ๒๐ นอกจากนี้จะนำผล O – Net เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ การประเมินผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารและการขอวิทยฐานะของครู ซึ่งเชื่อว่าจะเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณภาพและส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ

                   สำหรับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เห็นชอบในแนวทางที่ ๒ ที่ สพฐ.เสนอ โดยมีมติเห็นชอบเสนอสัดส่วนการนำ O – Net มาใช้ดังนี้ ปีการศึกษา ๒๕๕๕ เริ่มจาก ๘๐:๒๐ ปีการศึกษา๒๕๕๖ เพิ่มเป็น ๗๐:๓๐ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ เป็น ๖๐:๔๐ และปีการศึกษา ๒๕๕๘ เป็น ๕๐:๕๐ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการถ่วงดุลและเทียบเคียงคุณภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การประเมินผลการเรียนรู้ในระดับสถานศึกษา ไม่มีมาตรฐานโดยจะสอบใน ๕ วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา

                   ยังเป็นเพียงข้อเสนอแนะที่จะนำผลการสอบ O – Net มาใช้ ซึ่งสถานศึกษาควรมีการทบทวนปรับปรุงการสอนให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากให้คิดนอกกรอบแล้ว เห็นว่า การศึกษาไม่ควรมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรแยกการศึกษาออกจากการเมือง ควรมีองค์กรที่เป็นอิสระนอกเหนือการเมือง มีอิสระในการจัดการศึกษากำหนดเป้าหมายการศึกษาของประเทศกำหนดทิศทางการศึกษาของไทย  เพราะที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนรัฐมนตรีมากไป เฉลี่ยแล้ว ปีละ ๒ ท่าน แต่ละท่านเข้ามา นโยบาย(ส่วนตัว)ก็แตกต่างกัน ความต่อเนื่องเรื่องนโยบายไม่มี แม้ท่านที่เป็นรัฐมนตรีจะมาจากผู้นำคนเดียวกันก็ตาม...ในทางตรงกันข้ามการจัดการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน  ประเทศเพื่อนบ้านทั้งแซงทั้งไล่หลังมาติด ๆ เหตุเพราะว่าการเมืองไทยไม่นิ่งเพราะมัวแต่แก่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ถ้ามีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองมาดูแลการจัดการศึกษา การศึกษาจะมีเสถียรภาพมากกว่านี้ เด็กไทยเก่งไม่ด้อยกว่าเด็กต่างชาติ ถ้าบริบทเกื้อหนุน  ถ้าจัดตั้งหน่วยงานอิสระดูแลเรื่องการศึกษา มีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเข้ามาบริหารจัดการ โดยผู้ที่อยู่ในองค์กรนี้จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง ทั้งในปัจจุบัน ก่อน และหลัง... ในส่วนภาครัฐซึ่งมาจากการเมืองก็เพียงแต่มีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณให้และช่วยกำกับให้เป็นไปตามทิศทางที่หน่วยงานกลางที่จัดการศึกษากำหนด คิดว่า น่าจะเอาอยู่ สำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำอยู่ในขณะนี้ หรือเราคิดไปเองว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ...เรื่องนี้ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ขอตอบว่าได้แน่นอน ถ้าประชาชนต้องการให้เป็น "การศึกษาโดยประชาชน เพื่อประชาชน" ทุกอย่างเป็นไปได้...สุดท้ายก็ขอให้คุณครูทุกท่านมีความสุขกับการทำงาน การทำงานเพื่อยกระดับชีวิตของนักเรียน(ประชาชน)ให้สูงขึ้น ด้วยการศึกษา.... นำการเมือง... ครับ


วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา : บ่งบอกตัวตนแต่ละสถานศึกษา

             การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) Office for National Education Standards and Quality Assessment (Public Organization) ซึ่งได้ประเมินโรงเรียนในรอบสามไปแล้วบางส่วน แต่ในรอบที่สามนี้ โรงเรียนจะต้องจัดทำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งจากการที่ได้ติดตามโรงเรียนที่จะประเมินโรงเรียนในรอบสาม พบว่าปัญหาที่โรงเรียนประสพคือ การจัดทำมาตรฐานการศึกษาสถานศึกษา บางโรงเรียนอิงเอามาตรฐานของชาติ แต่สิ่งที่โรงเรียนขาดคือเอกสารที่อ้างอิง แต่มาตรฐานของสถานศึกษาควรเกิดจากการการที่ของสถานศึกษาดำเนินการเองเพราะหมายถึงการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา
          การจัดทำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา นั้น เป็นกระบวนการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา เป็นขั้นตอนหรือวิธีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู ตัวแทนผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้
          ขั้นตอนที่ ๑ เตรียมความพร้อมการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
                   ๑.แต่งตั้งคณะกรรมการการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาตัวแทนผู้ปกครองชุมชน และผู้เกี่ยวข้อง
                   ๒.สร้างจิตสำนึกการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดำเนินการโดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการหรือชี้แจงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มาตรฐานการศึกษาของชาติ มาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกัดคุณภาพภายในของสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้ มาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประเมินภายนอก แนวทางการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา และประโยชน์ของการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
          ขั้นตอนที่ ๒ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมาตรฐานการศึกษาต่าง ๆ
                   การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมาตรฐานการศึกษาต่าง ๆ เป็นขั้นตอนสำคัญที่คณะกรรมการ ฯ จะต้องวิเคราะห์เนื้อหาสาระที่จะนำมากำหนดโครงสร้างของมาตรฐานสถานศึกษา โดยศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาสาระของมาตรฐานการศึกษาและตัวบ่งชี้ต่าง ๆ ประกอบด้วย มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก หลักสูตรสถานศึกษา จุดเน้น บริบท ความต้องการ และ อัตลักษณ์ของสถานศึกษา รวมทั้งด้านวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย เป้าหมาย สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกสถานศึกษา เป็นต้น สรุปเป็นภาพเป้าหมายที่สถานศึกษาต้องการ

          ขั้นตอนที่ ๓ กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาและค่าเป้าหมาย
                   หลังจากที่สถานศึกษาได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมาตรฐานการศึกษาและตัวบ่งชี้ต่าง ๆ แล้ว สถานศึกษาดำเนินการสังเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้น เพื่อหลอมรวมกำหนดเป็นมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่ครอบคลุมมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานด้านผู้เรียน ด้านคุณภาพการจัดการศึกษา ด้านคุณภาพการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ด้านอัตลักษณ์ของสถานศึกษา และด้านมาตรฐานการส่งเสริม หรือ มาตรฐานด้านอื่น ๆ ที่สถานศึกษาอาจกำหนดขั้นเพิ่มเติมนอกเหนือมาตรฐานดังกล่าวข้างต้นก็ได้
                   ในการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษานั้น สถานศึกษาจะต้องพิจารณาสาระสำคัญที่จะกำหนดในมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่สะท้อนอัตลักษณ์และมาตรฐานการส่งเสริมของสถานศึกษาอย่างชัดเจนซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องกับจุดเน้น วิสัยทัศน์ ปรัชญา และแนวทางการจัดการศึกษาของสถานศึกษา โดยผ่านกระบวนการเห็นชอบร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา และสาระสำคัญที่กำหนดขึ้นมา จะต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษานั้น ๆ และต้องกำหนดค่าเป้าหมายความสำเร็จของแต่ละมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่สถานศึกษากำหนดขึ้น โดยค่าเป้าหมายความสำเร็จดังกล่าวอาจกำหนดในลักษณะเป็นเป้าหมาย เชิงปริมาณ เป้าหมายเชิงคุณภาพ หรือเป้าหมายเชิงปริมาณกับเชิงคุณภาพ ผสมผสานกันในแต่ละมาตรฐานและตัวบ่งชี้ ซึ่งค่าเป้าหมายที่กำหนดขึ้นจะต้องสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาด้วยการพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของสถานศึกษา และมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุผล
          การกำหนดค่าเป้าหมายความสำเร็จ จะต้องนำข้อมูลย้อนหลัง ๓ ปี ของสถานศึกษาไปประกอบ ตัวอย่างเช่น การกำหนดค่าเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ต้องนำผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ๓ ปี มาพิจารณา กรณีที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ให้ดูช่วงที่เพิ่ม ปี ๑ ปี ๒ ปี ๓ เพิ่มเท่าไร การกำหนดค่าเป้าหมายในปีต่อไปจะดูที่ความเหมาะสมและนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กรณีที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นในลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ ให้นำผลที่เพิ่ม หรือลงทั้ง ๓ ปี มาหาค่าเฉลี่ย(กำหนดฐาน)การกำหนดค่าเป้าหมาย เมื่อได้ฐาน(ค่าเฉลี่ย)แล้ว ก็ให้ดูนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบการกำหนดต่อไป

          ขั้นตอนที่ ๔ ตรวจสอบและทบทวนมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
                   การตรวจสอบและทบทวนมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาเป็นการพิจารณาทบทวนเนื้อหาสาระที่กำหนดในมาตรฐานและตัวบ่งชี้รวมถึงค่าเป้าหมายความสำเร็จที่สถานศึกษาได้กำหนดขึ้นว่าเหมาะสม ครอบคลุม สอดคล้อง เป็นไปได้ โดยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบ
          ขั้นตอนที่ ๕ ประกาศใช้มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
                   มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา เป็นเครื่องบอกทิศทางการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และสถานศึกษาโดยรวม ดังนั้น การนำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา เผยแพร่และแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกรับทราบด้วยรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม เช่นการแจ้งในที่ประชุม จดหมายข่าว ประกาศเสียงตามสาย ป้ายประชาสัมพันธ์ และแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่สังกัดทราบ

          มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่แต่ละสถานศึกษาได้จัดทำนั้น การมีส่วนร่วมในการจัดทำเป็นประเด็นสำคัญ สถานศึกษาควรให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเช่น ผู้บริหารครูทุกท่าน ตัวแทนชุมชน ตัวแทนนักเรียน ตัวแทนผู้นำทางจิตวิญญาณ(ศาสนา)ร่วมจัดทำมาตรฐานสถานศึกษาซึ่งมาตรฐานสถานศึกษาที่ออกมานั้นก็คือรูปร่าง ตัวตนของสถานศึกษาแต่ละแห่งเป็นการประกาศแนวทางในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา และประกันการจัดการศึกษาตามซึ่งผู้จบการศึกษาจะมีคุณลักษณะตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษานั้นเอง...

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ผลการศึกษาแท็บเลต : กระดานชนวนยุค2012


           สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.)โครงการนำร่อง การประยุกต์และบูรณาการคอมพิวเตอร์แท็บเลตเพื่อการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาตามแนวนโยบายรัฐบาลระยะที่ ๑ โดยศึกษากับนักเรียน ๒ ช่วงชั้น คือชั้น ป.๑ และ ป.๔ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ใน ๕ โรงเรียนได้แก่ โรงเรียนราชวินิต (ฝ่ายประถม) กรุงเทพฯ โรงเรียนอนุบาลลำปาง จังหวัดลำปาง โรงเรียนอนุบาลพังงา จังหวัดพังงา โรงเรียนสนามบิน จังหวัดขอนแก่น และโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถมศึกษา ใช้ระยะเวลาทดลองในชั้นเรียน ๖ ๗ สัปดาห์ ในช่วงต้นเดือนมกราคม มีนาคม ๒๕๕๕ โดยจำแนกผลการใช้แท็บเลตที่ส่งผลต่อผู้เรียน ครูประจำชั้น ครูผู้สอน ผู้ปกครอง/ชุมชน มีผลการศึกษาดังนี้
          ด้านผู้เรียน ส่งผลใน ๒ ส่วน คือ พฤติกรรมการเรียนรู้โดยนักเรียนเป็นศูนย์กลางนั้น ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการฝึกหัด และทำกิจกรรมที่หลากหลายจนพบความถนัดของตนเอง แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านประสบการณ์เรื่องเทคโนโลยี การฝึกคิดหลายวิธี และการสร้างสรรค์ ตลอดจนความสนใจใฝ่รู้

          นอกจากนี้ยังพบว่า เด็ก ป.๔ เรียนรู้ได้เร็วกว่า มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเด็ก ป.๑ ด้านการเรียนรู้ในห้องเรียน นักเรียนมีความสุข กระตือรือร้น และไม่พบปัญหาเด็กติดเกมส์ ส่วนด้านสุขภาพพบว่า สุขภาพตา นักเรียนปวดตา เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล แต่ยังไม่สรุปได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการใช้แท็บเลต

          ด้านครู พบว่า พฤติกรรมการสอนต้องพึ่งความช่วยเหลือจากผู้ช่วยด้านเทคนิคระหว่างการสอนที่ใช้แท็บเลต เพราะหากครูไม่ชำนาญการใช้แท็บเลต การเรียนการสอนก็จะยุติ แล้วต้องกลับไปใช้หนังสือแทน ซึ่งทั้งครูและผู้บริหารมองว่าการให้นักเรียนเรียนรู้จากสื่อในแบบรายบุคคลพร้อมกันทั้งห้องทำได้ยากสำหรับการดูแล และควบคุมเวลา
          ส่วนทัศนคติของครูที่มีต่อแท็บเลตนั้น พบว่า แท็บแลตไม่ได้เป็นตัวแทนของครู แท็บแลต เป็นสื่อทันสมัยและช่วยแบ่งเบาภาระ ช่วยเปิดโลกให้กว้างขึ้น เป็นทางเลือกใหม่ และการเรียนรู้จากแอพพลิเคชั้นต่างๆ ช่วยให้นักเรียนฝึกทักษะแบบ Leanning by Doing อย่างแท้จริงและช่วยเด้กได้ฝึกประสบการณ์ทางภาษาอีกด้วย

          ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
                   ๑.ควรมีการจัดทำแผนแม่บทในการแจกแท็บแลต โดยให้มีผลถึงผู้บริหารสถานศึกษา ครูประจำชั้น ครูประจำกลุ่มสาระ และมีผลต่อนักเรียน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนมีผลต่อผู้ปกครองด้วย
                   ๒.กรณีที่จะแจกแท็บแลตอย่างกว้างขวางต้องมีการพัฒนาเนื้อหาให้ครบด้วน และน่าสนใจ
                   ๓.จัดหาบุคลากรที่จะเข้ามาช่วยครูทางเทคนิค อย่างน้อยโรงเรียนละ ๑ คน
                   ๔.ถ้ามีงบประมาณจำกัด ควรแจกแท็บแลต ป.๔ ก่อน ป.๑
                   ๕.ถ้างบประมาณจำกัดไม่จำเป็นต้องแจกนักเรียนทุกคน โดยเปิดเป็นห้องเรียนแท็บแลต และจัดตารางเรียนให้นักเรียนได้หมุนเวียนกันมาใช้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณแล้วนำมาพัฒนาครู จ้างช่างเทคนิค และพัฒนาเนื้อหาต่าง ๆ ได้ รวมถึงสามารถกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่โรงเรียนอื่น ๆ ได้อีกทางหนึ่ง

          ข้อเสนอแนะของครูและผู้บริหาร
๑.ไม่ควรให้นักเรียนนำแท็บแลตกลับบ้าน
๒.ควรอบรมครูอย่างต่อเนื่อง
๓.ไม่จำเป็นต้องแจกแท็บแลตให้กับนักเรียนทุกคนแต่อาจจะจัดอุปกรณ์ไอซีทีที่
จำเป็น สำหรับการสอน เช่น คอมพิวเตอร์ และจอโปรเจคเตอร์ โดยเสนอ One Tablet One Projector หรือ Smart Board ซึ่งจะช่วยในการประหยัดงบประมาณได้
          สิ่งที่ผู้ปกครองและชุมชนต้องการคือ
                   ๑.จัดให้มีการอบรมผู้ปกครอง เพื่อดูแลบุตรหลานในเรื่องของการใช้แท็บแลตอย่างมีจริยธรรมได้
๒.ไม่ควรให้นักเรียนนำแท็บแลตกลับบ้าน เพราะจะเกิดปัญหาการดูแลและความและความปลอดภัย
                   ๓.เตรียมความพร้อมเรื่องเครือข่าย WiFiในระดับชุมชน
          ผลการศึกษายังไม่สามารถชี้ชัดถึงผลกระทบในเชิงลบที่เกิดขึ้นชัดเจน เพราะระยะเวลาศึกษาไม่เพียงพอ ส่วนผลบวก ป.๔ มีความชัดเจนมากกว่า ป.๑ เพราะสามารถใช้ประโยชน์ในการค้นหาข้อมูลได้คุ้มค่ากว่า และเรียนรู้ได้เร็วกว่าในเรื่องการจัดการ สร้างสรรค์ ประเมิน และบูรณาการ
            ผลการศึกษาของ มศว ที่ได้นำเสนอไปแล้วข้างต้น เป็นเพียงข้อมูลเพื่อประกอบการเตรียมการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนของโรงเรียนนั้นมีข้อเสนอแนะดังนี้
            ๑.ในการจัดชั้นเรียนโดยเฉพาะในชั้นที่กำหนดให้ใช้ แท็บเลต เพื่อเป็นสื่อในการเรียน ควรจัดครูที่มีวัยวุฒิที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมาในระดับป.๑นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นครูที่มีอายุมาก ควรปรับเปลี่ยนเป็นครูที่มีความสามารถด้าน ICT 
          ๒.ควรประชุมครู - ผู้ปกครองเพื่อสร้างความเข้าใจ ร่วมกัน
          ๓.ผู้บริหารควรเป็นหลัก ควรทำการศึกษาเรื่องของ แท็บเลต โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูน้อย
          ๔.การเรียนการสอนโดยใช้ แท็บเลต เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ครูประจำชั้นควรดูแลอย่างใกล้ชิด โรงเรียนควรมีแนวทางการใช้ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวควรมาจากการประชุมร่วมกับผู้ปกครอง
          ๕.ในระดับชั้น ป.๑ ทักษะการอ่านออก เขียนได้ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด ควรฝึกเรื่องนี้ให้มาก เพราะเป็นเครื่องมือในการเรียนในอนาคต  
          แท็บเลตเพื่อการเรียนการสอน เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่เสนอต่อรัฐสภา การนำเสนอผลการศึกษาในครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การนำข้อมูลที่ได้ไปหาแนวทางแก้ไขเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการก่อนที่ แท็บเลต จะถึงห้องเรียน...แต่ประเด็นการเรียนในขั้นพื้นฐานนั้น มุ่งเน้นให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ คิดเป็น ไม่ใช่ copy ความคิด... แท็บเลตจึงเป็นเพียงเครื่องมือหรือสื่อการเรียนอย่างหนึ่งในการศึกษาเท่านั้น ครูยังมีบทบาทสำคัญในการเรียนการสอนไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม หรือเรื่องการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน ซึ่งถ้านักเรียนมาโรงเรียนแล้วยัง อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จะมีความหมายอะไร...กับคำว่า  มาเรียน

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พระธาตุอิงฮัง พระธาตุคู่สะหวันเขต

          
         สงกรานต์ ปี ๒๕๕๕ ได้มีโอกาสไปเที่ยวแขวงสะหวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การไปในครั้งนี้ ได้ไปข้ามที่จังหวัดมุกดาหารที่สะพานมิตรภาพ ไทย ลาว โดยมีบริษัททัวร์ รับนำเที่ยวจากฝั่งประเทศไทยบริการนำเที่ยวเป็นคณะโดยเป็นรถตู้ครั้งละ ๓,๕๐๐ บาท สถานที่ที่บริษัททัวร์จัด เป็นแบบไป กลับ สถานที่ที่จะพาไปหนึ่งในนั้นคือพระธาตุอิงฮัง
คำไหว้พระธาตุอิงฮัง
          พระธาตุอิงฮังเป็นพระธาตุที่สร้างพร้อม ๆ กับพระธาตุพนมของประเทศไทย ในตอนแรกไม่ทราบความเป็นมา แต่หลังจากที่ได้ไปกราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดอิงฮังและได้สนทนากับท่านถึงได้รู้ ว่าเป็นพระธาตุคู่กับพระธาตุพนมของประเทศไทย ทั้งนี้ได้กลับมาศึกษาค้นคว้าประวัติของพระธาตุอิงฮัง จึงใคร่นำเสนอให้ท่านผู้สนใจทราบ
พุทธศาสนิกชนชาวลาวสรงน้ำพระ
          พระธาตุอิงฮัง หรือ ธาตุอิงฮัง ตามประวัติ การสร้างธาตุอิงฮัง สร้างในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร โดยพระเจ้าสุมินราช บ้างก็ว่าสร้างในสมัยพระเจ้าสุมิตราช(แต่คิดว่าน่าจะเป็นกษัตริย์องค์เดียวกันทั้งนี้อาจเกิดความผิดพลาดในการนำเสนอ..ผู้เขียน) ประมาณ พ.ศ.๔๐๐ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม สูง ๒๕ เมตร คำว่า อิงฮังมาจากคำว่า พิงรังหรือพิงต้นรัง เมื่อค้นประวัติของพระธาตุพนมแล้วพบว่า มีส่วนสัมพันธ์กัน กล่าวคือ

          ตามตำนานพระธาตุพนมในอุรังคนิทานกล่าวว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระอานนท์ได้เสด็จมาที่ พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์เมือง รุกขนคร(นครพนม)และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้า หนึ่งคืน รุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขงไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูร พักอยู่ที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง แล้วกลับมาทำภัทกิจ(ฉันอาหาร)ที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศ
หนูมาสรงน้ำพระ
          ภูกำพร้าที่กล่าวถึงปัจจุบันก็คือที่ตั้งของพระธาตุพนม ตรงตำแหน่งที่ต้นรังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเสด็จพักรับบาตรที่เมืองศรีโคตรบูรนั้น ต่อมาได้มีการสร้างเป็นธาตุกู่ในสมัยพระเจ้าสุมิตราช ภายหลังได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนกระดูกสันหลังมาประดิษฐานไว้ในกู่ธาตุหรือพระธาตุอิงฮังนั้นเอง
ด้านบนพระธาตุอิงฮังเหมือนพระธาตุพนมของไทย
          พระธาตุอิงฮัง อยู่ในเมืองคันทะบุลี แขวงสะหวันเขตพระธาตุองค์นี้ถือเป็นพระธาตุคู่แขวงสะหวันเขต โดยมีคำขวัญแขวงสะหวันเขต ปรากฏอยู่ในแถวที่ ๔ กล่าวว่า ปูชนียสถาน พระธาตุอิงฮังงามสง่า สะบายดี
คำขวัญแขวงสะหวันเขต