วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ผลการศึกษาแท็บเลต : กระดานชนวนยุค2012


           สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.)โครงการนำร่อง การประยุกต์และบูรณาการคอมพิวเตอร์แท็บเลตเพื่อการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาตามแนวนโยบายรัฐบาลระยะที่ ๑ โดยศึกษากับนักเรียน ๒ ช่วงชั้น คือชั้น ป.๑ และ ป.๔ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ใน ๕ โรงเรียนได้แก่ โรงเรียนราชวินิต (ฝ่ายประถม) กรุงเทพฯ โรงเรียนอนุบาลลำปาง จังหวัดลำปาง โรงเรียนอนุบาลพังงา จังหวัดพังงา โรงเรียนสนามบิน จังหวัดขอนแก่น และโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถมศึกษา ใช้ระยะเวลาทดลองในชั้นเรียน ๖ ๗ สัปดาห์ ในช่วงต้นเดือนมกราคม มีนาคม ๒๕๕๕ โดยจำแนกผลการใช้แท็บเลตที่ส่งผลต่อผู้เรียน ครูประจำชั้น ครูผู้สอน ผู้ปกครอง/ชุมชน มีผลการศึกษาดังนี้
          ด้านผู้เรียน ส่งผลใน ๒ ส่วน คือ พฤติกรรมการเรียนรู้โดยนักเรียนเป็นศูนย์กลางนั้น ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการฝึกหัด และทำกิจกรรมที่หลากหลายจนพบความถนัดของตนเอง แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านประสบการณ์เรื่องเทคโนโลยี การฝึกคิดหลายวิธี และการสร้างสรรค์ ตลอดจนความสนใจใฝ่รู้

          นอกจากนี้ยังพบว่า เด็ก ป.๔ เรียนรู้ได้เร็วกว่า มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเด็ก ป.๑ ด้านการเรียนรู้ในห้องเรียน นักเรียนมีความสุข กระตือรือร้น และไม่พบปัญหาเด็กติดเกมส์ ส่วนด้านสุขภาพพบว่า สุขภาพตา นักเรียนปวดตา เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล แต่ยังไม่สรุปได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการใช้แท็บเลต

          ด้านครู พบว่า พฤติกรรมการสอนต้องพึ่งความช่วยเหลือจากผู้ช่วยด้านเทคนิคระหว่างการสอนที่ใช้แท็บเลต เพราะหากครูไม่ชำนาญการใช้แท็บเลต การเรียนการสอนก็จะยุติ แล้วต้องกลับไปใช้หนังสือแทน ซึ่งทั้งครูและผู้บริหารมองว่าการให้นักเรียนเรียนรู้จากสื่อในแบบรายบุคคลพร้อมกันทั้งห้องทำได้ยากสำหรับการดูแล และควบคุมเวลา
          ส่วนทัศนคติของครูที่มีต่อแท็บเลตนั้น พบว่า แท็บแลตไม่ได้เป็นตัวแทนของครู แท็บแลต เป็นสื่อทันสมัยและช่วยแบ่งเบาภาระ ช่วยเปิดโลกให้กว้างขึ้น เป็นทางเลือกใหม่ และการเรียนรู้จากแอพพลิเคชั้นต่างๆ ช่วยให้นักเรียนฝึกทักษะแบบ Leanning by Doing อย่างแท้จริงและช่วยเด้กได้ฝึกประสบการณ์ทางภาษาอีกด้วย

          ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
                   ๑.ควรมีการจัดทำแผนแม่บทในการแจกแท็บแลต โดยให้มีผลถึงผู้บริหารสถานศึกษา ครูประจำชั้น ครูประจำกลุ่มสาระ และมีผลต่อนักเรียน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนมีผลต่อผู้ปกครองด้วย
                   ๒.กรณีที่จะแจกแท็บแลตอย่างกว้างขวางต้องมีการพัฒนาเนื้อหาให้ครบด้วน และน่าสนใจ
                   ๓.จัดหาบุคลากรที่จะเข้ามาช่วยครูทางเทคนิค อย่างน้อยโรงเรียนละ ๑ คน
                   ๔.ถ้ามีงบประมาณจำกัด ควรแจกแท็บแลต ป.๔ ก่อน ป.๑
                   ๕.ถ้างบประมาณจำกัดไม่จำเป็นต้องแจกนักเรียนทุกคน โดยเปิดเป็นห้องเรียนแท็บแลต และจัดตารางเรียนให้นักเรียนได้หมุนเวียนกันมาใช้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณแล้วนำมาพัฒนาครู จ้างช่างเทคนิค และพัฒนาเนื้อหาต่าง ๆ ได้ รวมถึงสามารถกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่โรงเรียนอื่น ๆ ได้อีกทางหนึ่ง

          ข้อเสนอแนะของครูและผู้บริหาร
๑.ไม่ควรให้นักเรียนนำแท็บแลตกลับบ้าน
๒.ควรอบรมครูอย่างต่อเนื่อง
๓.ไม่จำเป็นต้องแจกแท็บแลตให้กับนักเรียนทุกคนแต่อาจจะจัดอุปกรณ์ไอซีทีที่
จำเป็น สำหรับการสอน เช่น คอมพิวเตอร์ และจอโปรเจคเตอร์ โดยเสนอ One Tablet One Projector หรือ Smart Board ซึ่งจะช่วยในการประหยัดงบประมาณได้
          สิ่งที่ผู้ปกครองและชุมชนต้องการคือ
                   ๑.จัดให้มีการอบรมผู้ปกครอง เพื่อดูแลบุตรหลานในเรื่องของการใช้แท็บแลตอย่างมีจริยธรรมได้
๒.ไม่ควรให้นักเรียนนำแท็บแลตกลับบ้าน เพราะจะเกิดปัญหาการดูแลและความและความปลอดภัย
                   ๓.เตรียมความพร้อมเรื่องเครือข่าย WiFiในระดับชุมชน
          ผลการศึกษายังไม่สามารถชี้ชัดถึงผลกระทบในเชิงลบที่เกิดขึ้นชัดเจน เพราะระยะเวลาศึกษาไม่เพียงพอ ส่วนผลบวก ป.๔ มีความชัดเจนมากกว่า ป.๑ เพราะสามารถใช้ประโยชน์ในการค้นหาข้อมูลได้คุ้มค่ากว่า และเรียนรู้ได้เร็วกว่าในเรื่องการจัดการ สร้างสรรค์ ประเมิน และบูรณาการ
            ผลการศึกษาของ มศว ที่ได้นำเสนอไปแล้วข้างต้น เป็นเพียงข้อมูลเพื่อประกอบการเตรียมการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนของโรงเรียนนั้นมีข้อเสนอแนะดังนี้
            ๑.ในการจัดชั้นเรียนโดยเฉพาะในชั้นที่กำหนดให้ใช้ แท็บเลต เพื่อเป็นสื่อในการเรียน ควรจัดครูที่มีวัยวุฒิที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมาในระดับป.๑นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นครูที่มีอายุมาก ควรปรับเปลี่ยนเป็นครูที่มีความสามารถด้าน ICT 
          ๒.ควรประชุมครู - ผู้ปกครองเพื่อสร้างความเข้าใจ ร่วมกัน
          ๓.ผู้บริหารควรเป็นหลัก ควรทำการศึกษาเรื่องของ แท็บเลต โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูน้อย
          ๔.การเรียนการสอนโดยใช้ แท็บเลต เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ครูประจำชั้นควรดูแลอย่างใกล้ชิด โรงเรียนควรมีแนวทางการใช้ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวควรมาจากการประชุมร่วมกับผู้ปกครอง
          ๕.ในระดับชั้น ป.๑ ทักษะการอ่านออก เขียนได้ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด ควรฝึกเรื่องนี้ให้มาก เพราะเป็นเครื่องมือในการเรียนในอนาคต  
          แท็บเลตเพื่อการเรียนการสอน เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่เสนอต่อรัฐสภา การนำเสนอผลการศึกษาในครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การนำข้อมูลที่ได้ไปหาแนวทางแก้ไขเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการก่อนที่ แท็บเลต จะถึงห้องเรียน...แต่ประเด็นการเรียนในขั้นพื้นฐานนั้น มุ่งเน้นให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ คิดเป็น ไม่ใช่ copy ความคิด... แท็บเลตจึงเป็นเพียงเครื่องมือหรือสื่อการเรียนอย่างหนึ่งในการศึกษาเท่านั้น ครูยังมีบทบาทสำคัญในการเรียนการสอนไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม หรือเรื่องการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน ซึ่งถ้านักเรียนมาโรงเรียนแล้วยัง อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จะมีความหมายอะไร...กับคำว่า  มาเรียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น