วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การศึกษาโดยประชาชน... เพื่อประชาชน(พูดให้คิด)

                
                 เริ่มต้นปีการศึกษา ๒๕๕๕ สิ่งที่เป็นภาระสำหรับผู้ปกครองมากในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ คือ การซื้อเครื่องแบบนักเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียนของลูกหลาน หนังสือเรียนนั้นแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี มีการจัดซื้อหนังสือเรียนในสถานศึกษาเพื่อให้นักเรียนได้ยืมเรียนเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองไปได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ทั้งหมด หนังสือเรียนนักเรียนไม่ได้ซื้อก็จริง แต่สิ่งที่มาประกอบในการเรียนอย่างอื่น เช่น แบบฝึกหัดในแต่ละสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดขึ้นมาใช้ บางสถานศึกษาก็มีค่าจ้างครูต่างชาติมาสอน ฯลฯ  เหล่านี้ล้วนเป็นภาระของผู้ปกครองทั้งสิ้น

                   สถานศึกษาหลายแห่งกำหนดให้นักเรียนต้องซื้อแบบฝึกหัดที่มีเนื้อหาและแบบฝึกในตัว แต่ละสาระการเรียนรู้ ควบคู่กับหนังสือเรียน สิ่งที่สถานศึกษาต้องพิจารณามากเป็นพิเศษก็คือ ความเหมาะสม ไม่ใช่เพื่อความสะดวกของคุณครูในการจัดการเรียนการสอน แต่ผลกระทบมันมีมากมาย ผลกระทบสำหรับผู้ปกครองคือ ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งฐานรายได้ของผู้ปกครองแต่ละครอบครัวแตกต่างกันผลกระทบก็แตกต่างกัน ผลกระทบสำหรับนักเรียนคือ ต้องมีกระเป๋าที่ใหญ่ขึ้นหนักขึ้น แต่ละวันสะพายกระเป๋าไปโรงเรียนจนหลังแอ่น  ผลกระทบกับโรงเรียนคือ เนื้อหาสาระของหนังสือที่เลือกให้นักเรียนซื้อหรือเลือกเรียนหรือประกอบการเรียน ตรงกับหลักสูตรสถานศึกษาหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อการเรียนการสอน การสอบ และการจบช่วงชั้นของนักเรียน

                   การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนนั้น อยากให้คุณครูได้ชำเลืองดูหลักสูตรของสถานศึกษาให้มาก ๆ ดูว่าสถานศึกษาของเราได้กำหนดหน่วยการเรียนรู้แต่ละสาระการเรียนรู้ไว้อย่างไร ประเด็นที่พบคือ การสอนที่ยึดแบบเรียนสำเร็จรูปที่โรงเรียนกำหนดให้ซื้อมากกว่าหนังสือเรียนที่แจก การเรียนการสอนจบเมื่อปลายปี แต่เป็นการจบตามแบบเรียนสำเร็จรูปไม่ใด้จบตามหลักสูตรของสถานศึกษา สุดท้ายก็มีผลต่อการสอบ ในระดับชาติอย่างเช่น O – Net หรือ หรือการประเมิน PISA ซึ่งเรื่องนี้ จะทิ้งปัญหาเรื่องนี้ไปให้ฝ่ายวิชาการก็ไม่ได้ ผู้บริหารและคุณครูทุกคนรวมทั้งคณะกรรมการสถานศึกษา ต้องรับทราบปัญหา และหาทางแก้ไขร่วมกัน

                   สำหรับในการสอบ O – Net โรงเรียนทุกแห่งคงทราบผลไปแล้ว ในภาพรวมผลการสอบเฉลี่ยแล้วสูงขึ้น มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ยากฝากโรงเรียนก็คือ เราจะนำผลการสอบที่ทราบแล้วนี้ไปยกระดับผลสัมฤทธิ์ในโรงเรียนให้สูงขึ้นได้อย่างไร อยากให้โรงเรียนนำผลการสอบมาพิจารณาร่วมกันว่า มีเนื้อหาส่วนไหนที่สถานศึกษาของเรา นักเรียนของเรายังต่ำ ยังบกพร่อง การเรียนการสอนยังไม่ครอบคลุม มาปรับปรุงในเรื่องการเรียนการสอนของครู แนวทาง หรือวิธีการที่ใช้สอนในปีที่ผ่านมามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร จะปรับปรุงตรงไหน ปรับปรุงอย่างไร แล้วบันทึกหลังสอนที่บันทึกไว้ในบันทึกการสอน ปีนี้ควรเอามาพิจารณาปรับให้ตรงกับประเด็นที่ต้องแก้ไข
                   ในส่วนของการนำผลการสอบเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน(สพฐ.) นั้น ทางสพฐ.ต้องการใช้ผลการสอบโอเน็ตมาประกอบการจบช่วงชั้นในปีการศึกษา ๒๕๕๕โดยสพฐ.เสนอแนวทางในการนำผลการสอบ O – Net มาใช้ดังนี้
                   ๑.ให้ O – Net เป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ในการจบการศึกษาตามเกณฑ์ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)ในระดับพอใช้ หรือร้อยละ ๒๐ ขึ้นไป
                   ๒.ใช้คะแนน O – Net เป็นส่วนหนึ่งในการจบตามหลักสูตร ในอัตราผลการเรียนระหว่างเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรหรือจีพีเอเอ็กซ์ ต่อผลคะแนน O – Net เช่น ๘๐ : ๒๐ นอกจากนี้จะนำผล O – Net เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ การประเมินผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารและการขอวิทยฐานะของครู ซึ่งเชื่อว่าจะเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณภาพและส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ

                   สำหรับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เห็นชอบในแนวทางที่ ๒ ที่ สพฐ.เสนอ โดยมีมติเห็นชอบเสนอสัดส่วนการนำ O – Net มาใช้ดังนี้ ปีการศึกษา ๒๕๕๕ เริ่มจาก ๘๐:๒๐ ปีการศึกษา๒๕๕๖ เพิ่มเป็น ๗๐:๓๐ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ เป็น ๖๐:๔๐ และปีการศึกษา ๒๕๕๘ เป็น ๕๐:๕๐ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการถ่วงดุลและเทียบเคียงคุณภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การประเมินผลการเรียนรู้ในระดับสถานศึกษา ไม่มีมาตรฐานโดยจะสอบใน ๕ วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา

                   ยังเป็นเพียงข้อเสนอแนะที่จะนำผลการสอบ O – Net มาใช้ ซึ่งสถานศึกษาควรมีการทบทวนปรับปรุงการสอนให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากให้คิดนอกกรอบแล้ว เห็นว่า การศึกษาไม่ควรมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรแยกการศึกษาออกจากการเมือง ควรมีองค์กรที่เป็นอิสระนอกเหนือการเมือง มีอิสระในการจัดการศึกษากำหนดเป้าหมายการศึกษาของประเทศกำหนดทิศทางการศึกษาของไทย  เพราะที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนรัฐมนตรีมากไป เฉลี่ยแล้ว ปีละ ๒ ท่าน แต่ละท่านเข้ามา นโยบาย(ส่วนตัว)ก็แตกต่างกัน ความต่อเนื่องเรื่องนโยบายไม่มี แม้ท่านที่เป็นรัฐมนตรีจะมาจากผู้นำคนเดียวกันก็ตาม...ในทางตรงกันข้ามการจัดการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน  ประเทศเพื่อนบ้านทั้งแซงทั้งไล่หลังมาติด ๆ เหตุเพราะว่าการเมืองไทยไม่นิ่งเพราะมัวแต่แก่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ถ้ามีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองมาดูแลการจัดการศึกษา การศึกษาจะมีเสถียรภาพมากกว่านี้ เด็กไทยเก่งไม่ด้อยกว่าเด็กต่างชาติ ถ้าบริบทเกื้อหนุน  ถ้าจัดตั้งหน่วยงานอิสระดูแลเรื่องการศึกษา มีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเข้ามาบริหารจัดการ โดยผู้ที่อยู่ในองค์กรนี้จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง ทั้งในปัจจุบัน ก่อน และหลัง... ในส่วนภาครัฐซึ่งมาจากการเมืองก็เพียงแต่มีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณให้และช่วยกำกับให้เป็นไปตามทิศทางที่หน่วยงานกลางที่จัดการศึกษากำหนด คิดว่า น่าจะเอาอยู่ สำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำอยู่ในขณะนี้ หรือเราคิดไปเองว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ...เรื่องนี้ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ขอตอบว่าได้แน่นอน ถ้าประชาชนต้องการให้เป็น "การศึกษาโดยประชาชน เพื่อประชาชน" ทุกอย่างเป็นไปได้...สุดท้ายก็ขอให้คุณครูทุกท่านมีความสุขกับการทำงาน การทำงานเพื่อยกระดับชีวิตของนักเรียน(ประชาชน)ให้สูงขึ้น ด้วยการศึกษา.... นำการเมือง... ครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น