วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

วันเด็ก : เกิดแต่กรรม?

                                         
                                                  หิวโหย อดโซ แล...อมโรค          
      ไร้โชคต่างลูก..พวกเศรษฐี
                                           เสื้อผ้าที่จะใส่แทบไม่มี                      
                                           พอกันทีกับอนาคตที่มืดมน
                                                   ข้าวกล้ำน้ำกลืนใช่ฝืนอด                    
                                           อนาคตไม่เห็นเหมือนล่องหน
                                           สุนัขบ้านเศรษฐีดีกว่าล้น                   
                                           ความเป็นคนแทบไม่เหลือเมื่อเทียบมัน
                                                                    พิราบแดง                       
                   ความเป็นมา เป็นบทกลอนสะท้อนความแตกต่างของสังคม กล่าวถึงชีวิตเด็กผู้เป็นอนาคตของชาติ ที่มีความแตกต่างกัน ยังมีเด็กที่อดยากหิวโหยในบ้านนี้เมืองนี้ยังมีอีกเยอะ เด็กบางคนบางที่อาจจะไม่ได้กินข้าวเช้าไปโรงเรียน ไปอาศัยอาหารกลางวันที่ทางโรงเรียนจัดให้ เพื่อนครูหลายท่านทราบ...ท่านรู้ดี เมื่อถึง วันเด็ก เด็กก็ได้รับการแสดงออกว่าได้ รับการดูแลเอาใจใส่  แต่ยากให้เรามองเด็กที่มีความแตกต่าง ขาดความสมบูรณ์ในครอบครัวและในชีวิต เด็กที่เที่ยวขอทานตามท้องถนน ขายพวงมาลัยตามฟุตบาท เด็กที่ขาดพ่อ ขาดแม่ ขาดผู้ปกครองดูแล เด็กตามสถานสงเคราะห์ เราดูแลเผื่อแผ่พวกเขามากแค่ไหน เขาได้รับการดูแลจากรัฐเพียงพอแล้วหรือยัง ในเมื่อเขาเป็นคนไทย โตขึ้นมามีสิทธิ มีเสียง ตามระบอบประชาธิปไตย สามารถเลือกท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลายเข้าสู่สภาได้ แล้ว หรือเป็นอริยะบุคคลที่กราบไหว้ได้ แล้วรัฐ...จะมีแนวทางในการดูแลพวกเขาเหล่านี้อย่างไร? ที่เป็นรูปธรรม และยั่งยืน...

             กลอนบทนี้  แต่งเมื่อสมัยที่เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนบ้านห้วยเสลา ตำบลขี้เหล็ก อำเภอน้ำยืนจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้ไปบรรจุเป็นข้าราชการครูที่โรงเรียนนี้เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๒
                        ประมาณปี๒๕๒๗ -  ๒๕๓๐ ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนครูผู้สนใจ จัดทำจุลสาร เสียงครู  กลอนบทนี้ แต่งลงปกหลังของจุลสาร เสียงครู ฉบับปฐมฤกษ์ใช้นามปากกา พิราบแดง เสียงครู ออกโดยกลุ่มโรงเรียนขี้เหล็ก(โรงเรียนในกลุ่มประกอบด้วย โรงเรียนบ้านขี้เหล็ก,บ้านหนองหัวลิง,บ้านห้วยเสลา,บ้านโนนสว่าง,บ้านอีสานเศรษฐกิจ,บ้านหนองโด,บ้านดอนโมกข์,บ้านไพบูลย์และบ้านหนองดุม) ผู้ที่ทำจุลสารเสียงครูเท่าที่พอจำได้ก็มี อ.ปรีชา  เป็นครูโรงเรียนบ้านหนองหัวลิง อ.ปรีชานำเอา ย่ำทัพสองหมื่นลี้ มาลงในฉบับ อ.อัษฎาวุธ ทองแสง เจ้าของคอลัมน์ ซุบซิบ นามปากกา หนวดแดง 

                   เกิดแต่กรรมที่นำเสนอเป็นหัวเรื่องของบทกลอน เมื่อมาพิจารณาดูในแง่มุมของพระพุทธศาสนาแล้วจะเห็นว่า คนเราทุกคนเกิดมามีกรรมที่แตกต่างกัน ถ้าให้ความหมายของ "กรรม" ว่าการกระทำ นั่นก็หมายความว่า ทำความดี ย่อมได้รับผลดี ทำความชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว กรรมเป็นผู้แยกแยะสัตว์โลก บางคนร่ำรวย บางคนยากจน สูงต่ำ ดำ ขาว พิกล พิการแตกต่างกัน เหล่านี้คือผลที่เกิดจากกรรมใช่หรือไม่ ? แต่หากยากจนแล้วขยันหมั่นเพียร เก็บหอมรอบริบ(ทำกรรมดี) ทำมาหากินละเว้นเสียซึ่งอบายมุขต่าง ๆ โอกาสที่จะเป็นคนมั่งคนมี รำ่รวยก็ยังมี…ขออย่างเดียวเมื่อร่ำรวยเป็นใหญ่เป็นโตแล้วอย่าโกงบ้านกินเมือง ใช้ราษฎรเป็นฐาน...สร้า้งความร้าวฉาน...เพื่อขึ้นสู่อำนาจ ขาดเสียซึ่งสำนึกบุญคุณแห่งแผ่นดินถิ่นเกิด เนรคุณต่อแผ่นดิน ลืมเสียซึ่งบาป บุญ คุณโทษ ผลประโยชน์อย่างเดียว...ถ้าเป็นอย่างนี้อย่าเกิดดีกว่า...เสียชาติที่่เกิดเป็นคน...ใช่ไหมพี่น้อง...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น