วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ



                        การสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นแนวคิดที่มุ่งให้ผู้เรียนได้มีบทบาท มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้โดยการลงมือกระทำ ปฏิบัติ แก้ปัญหา หรือศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองโดยยึดความสนใจ ความสามารถ ของผู้เรียนเป็นสำคัญ และสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเอง และนำความรู้ไปใช้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ได้ ตลอดจนเน้น กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้เรียน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง ผู้เรียนจะเรียนอย่างมีความสุข และผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มีอารมณ์แจ่มใสขณะที่ร่วมกิจกรรม
          จุดมุ่งหมายของการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
                   ๑.ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น
                   ๒.ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถต่าง ๆ ตามความสามารถของตน
                   ๓.ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือกระทำ ปฏิบัติหรือศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
                   ๔.ผู้เรียนได้เรียนตามความสนใจความสามารถของตนเอง
                   ๕.ผู้เรียนได้เชื่อมโยงการเรียนรู้กับสภาพชีวิตประจำวัน
                   ๖.ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้กับเพื่อน ๆ

                   สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดกรอบแนวทางในการติดตามและประเมินผล การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ดังนี้
                   ๑ แผนการสอน
                             ๑.มีคำอธิบายคุณภาพเป็นลักษณะการแสดงออกเป็นระดับคุณภาพชัดเจน
                             ๒.มีการกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้นำสู่คุณภาพได้จริง
                             ๓.มีกิจกรรมที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการวางแผน
                             ๔.มีคำถามที่ให้เกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายได้จริง เน้นการคิดและสร้างองค์ความรู้
                             ๕.มีวิธีการประเมินผลตามระดับคุณภาพตามสภาพจริง
                             ๖.มีการวิจัยค้นคว้าเพื่อเพิ่มคุณภาพของแผนงานอย่างต่อเนื่อง
                   ๒.การปฏิบัติการสอน
                             ๑.ครูจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริงตามเงื่อนไขของผู้เรียน
                             ๒.นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้
                             ๓.ผู้เรียนได้ลงมือทำกิจกรรมตามระดับความสามารถหรือเลือกตามความสามารถ
                             ๔.ผู้สอนแนะนำแหล่งข้อมูลเนื้อหาสาระเพิ่มเติม
                             ๕.ผู้เรียนร่วมกันคิดวิเคราะห์ ได้กระบวนการคิดในแต่ละกิจกรรมการเรียนรู้
                             ๖.ครูมีข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อปรับกิจกรรมได้เหมาะสม
                             ๗.ครูประเมินผลโดยใช้ระดับคุณภาพตามร่องรอยหรือผลงานของนักเรียน
                             ๘.มีอุปกรณ์เหมาะสมกับการเรียนรู้และระดับความสามารถของผู้เรียน
                             ๙.มีการเก็บร่องรอยบันทึกระหว่างสอนทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นและ
ผลที่เป็นการ แสดงของผู้เรียน

                   ๓.การรวบรวมผล
                             ๑.มีการนำเสนอผลการเรียนตามระดับคุณภาพ และแสดงคุณภาพที่เพิ่มขึ้นของนักเรียน
                             ๒.ใช้ข้อมูลจริง ผลงานจริงในการประเมิน
                             ๓.มีการวิพากย์ร่วมกันระหว่างผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน
                             ๔.มีการนำผลงานของนักเรียนมาแสดง
                             ๕.มีการจัดเก็บผลงานนักเรียนเป็นระบบ
                   ๔.การบริหารจัดการ
                             ๑.มีการจัดทำวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนร่วมกันทั้งโรงเรียน
                             ๒.มีการกำหนดเป้าหมายคุณภาพผู้เรียนชัดเจน
                             ๓.มีการสนับสนุน ส่งเสริมแหล่งข้อมูล แหล่งการเรียนรู้
                             ๔.มีการร่วมกันประเมินความคุ้มค่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
                             ๕.มีการสรุปสภาพการปฏิบัติงานเป็นระบบ เพื่อสะสมองค์ความรู้
                             ๖.มีการเพิ่มพูนความรู้เป็นวิชาชีพอย่างกว้างขวาง

                   การเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญหลัก ๆ ก็เพื่อที่จะให้ครูได้เรียนรู้เด็กที่ทำการสอน ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านพัฒนาการ สติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคม ของผู้เรียน การที่ครูและเด็กได้วางแผนการเรียนรู้ร่วมกันจะทำให้ช่องว่างระหว่างวัยน้อยลง ครูเข้าใจเด็กมากขึ้น เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จะส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนของผู้เรียนและช่วยให้ครูได้พัฒนาการสอนให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น.... รูปแบบการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีอยู่หลากหลาย ซึ่งคุณครูเราสามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน และพัฒนาให้เป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของเราเองได้ครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น