วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พลเมืองไทยกับวิถีแห่งประชาธิปไตย


          พลเมืองไทยหมายถึงบุคคลที่มีความเป็นไทย (ศิลปวิทยา ธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อและความคิดเห็นที่จะสามัคคีกันอยู่เป็นปึกแผ่น) อยู่ในตนเองและสามารถที่จะถ่ายทอดความเป็นไทยสืบต่อไปยังคนรุ่นหลังได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
          ความเป็นพลเมืองไทยหมายถึง การนำความเป็นไทย มาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งการคิดค้น ปรับปรุงหรือดัดแปลงความเป็นไทยให้เข้ากันได้กับสภาพการณ์ที่เป็นจริงทั้งทางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง
          วิถีประชาธิปไตยหมายถึง วิธีการปฏิบัติตนที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการดำรงชีวิตตามความเป็นไทยกับการเข้าไปมีส่วนร่วมของคนไทยในการเมืองและการบริหาร
          ความหมายของประชาธิปไตยในสังคมไทย ประชาธิปไตยภายในสังคมไทย จะมีได้ ๒ นัยคือนัยของชีวิต และนัยของการเมืองการบริหาร
          ๑.นัยของวิถีชีวิต สังคมไทยจะมีความมั่นคงและปลอดภัย ถ้าคนไทยปฏิบัติตามวิถีชีวิตของความเป็นไทย
                   ๑.๑ การรู้รักสามัคคี ความรักใคร่สามัคคีปรองดองระหว่างคนไทยในอดีต ได้ทำให้ประเทศไทยดำรงอยู่มาได้ตราบเท่าทุกวันนี้ ยามใดที่คนไทยอ่อนแอชิงดีชิงเด่นและหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ยามนั้นประเทศไทยจะตกอยู่ในมหันตภัย ผลลัพธ์จากการเสียกรุงศรีอยุธยา ๒ ครั้ง เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่ คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดาพระราชวังดุสิต วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ ของความสามัคคีไว้อย่างลึกซึ้ง ...คนไทยนี้ความจริง รู้รักสามัคคี ถึงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ถ้าไม่ รู้รักสามัคคีอยู่ไม่ได้  รู้รักสามัคคี ควรจะใช้ได้เพราะ หมายความว่า ทุกคนถือว่าตนเป็นคนไทย มีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ทุกคนรู้ว่าต้องมีความสามัคคี รู้ ก็คือ ทราบ ทราบความหมาย ของสามัคคี รัก คือ นิยม นิยมความสามัคคี เพราะเหตุใดคนไทยจึง รู้รักสามัคคี ก็เพราะเมืองไทยนี้ฉลาด ไม่ใช่ไม่ฉลาด คนไทยที่ฉลาด รู้ว่าหากเมืองไทยไม่ใช่ความสามัคคี ไม่เห็นอกเห็นใจกัน ไม่ใช่อะไรที่พอรับกันได้ พอที่จะใช้ได้ ก็คงจะไม่ได้ทำอะไร หมายความว่า ทำมาหากิน ก็ไม่ได้ทำมาหากิน เพราะว่าไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีความสงบ..จะต้อง รู้รักสามัคคี
                   ๑.๒ ความเป็นกลางและไม่มีอคติ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน บุคคลต้องไม่เลือกปฏิบัติ การทำงานต้องให้เกียรติกันไม่จับผิดกันและกันตลอดเวลา การตัดสินใจและการประเมินผลต้องกระทำแบบตรงไปตรงมาไม่นำความชอบความเกลียด ความชังเข้ามาใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบาย เกี่ยวกับอคติไว้ว่า อคติ...ตามรากศัพท์คือ สิ่งที่ไม่ควรจะทำ หรือสิ่งที่ไม่ควรจะไป แปลว่า ไม่ คติก็หมายความว่า ไป..สิ่งที่ไม่ควรไปนั้น หมายความว่า สิ่งที่ไม่ควรทำหรือไม่ควรตัดสิน ไม่ควรคิด..อคตินั้นมีฐานมีรากมาจากความไม่ดี...อคติทั้งหมายนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องพยายามเห็นและเรียน ถ้าปราศจากอคติแล้วก็จะถูกต้องตามหลักวิชา หมายความว่า ถูกต้องตามบทกฎหมายที่มีอยู่ และเป็นไปตามกฎของความยุติธรรมคือความดี ความถูกต้อง...   

                   ๑.๓ ความจริงใจต่อกัน ถ้าคนในสังคมไม่จริงใจต่อกัน การทำงานหรือการติดต่อกันในเรื่องต่าง ๆ จะประสบแต่อุปสรรคไม่ราบรื่น เนื่องจากแต่ละฝ่ายไม่ไว้วางใจกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับเรื่องความจริงใจไว้ว่า ความจริงใจมี ๒ ประการ ประการที่หนึ่งคือ ความจริงใจต่อผู้ร่วมงานซึ่งมีลักษณะประกอบคือความซื่อตรง เมตตา หวังดี พร้อมเสมอที่ร่วมมือช่วยเหลือและส่งเสริมกันทุกขณะ ทั้งในฐานะผู้มีจุดประสงค์ที่ดีร่วมกัน และในฐานนะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติ ร่วมโลกกัน ประการที่สอง ได้แก่ความจริงใจต่องาน มีลักษณะเป็นการตั้งจิตอธิษฐานหรือการตั้งใจจริง ที่จะทำงานให้เต็มกำลังกล่าวคือ เมื่อได้พิจารณาด้วยปัญญาเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า งานที่จะทำนั้นเป็นประโยชน์จริง ก็ตั้งสัตย์สัญญาแก่ตัวเอง ผูกพันบังคับตัวเองให้กระทำจนเต็มกำลังความสามารถ
                   ๑.๔ ความอดทนและอดกลั้น การบังคับใจหรือการข่มใจของตน จะทำให้ความขัดแย้งกับบุคคลอื่นลดน้อยลงความโกรธและความโมโหจะทำให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นความรุนแรงในลักษณะของ น้ำผึ้งหยดเดียว ได้ ในสังคมประชาธิปไตย บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมได้ แต่ถ้ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น อีกฝ่ายหนึ่งต้องรู้จักอดกลั้น ไม่โต้ตอบเพื่อไม่ให้เรื่องลุกลามบานปลายออกไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับความอดทนและอดกลั้นไว้ว่า ความอดทนและอดกลั้นไม่ยอมตัวยอมใจให้เป็นไปตามเหตุการณ์ตามอคติ และอารมณ์ที่ชอบหรือไม่ชอบใจนั้น ทำให้เกิดมีความยั้งคิด และธรรมดาคนเรา เมื่อยั้งคิดได้แล้ว...การพิจารณาทบทวนเรื่องใด ๆ ใหม่ ย่อมจะช่วยมองให้เห็นละเอียดชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจ..ปัญหาและความติดขัดก็ย่อมบรรเทาลง สามารถดำเนินงานทุกอย่างต่อไปได้โดยถูกต้อง ไม่ผิด..ไม่หลง และไม่เสียเวลา งานที่ทำก็จะบรรลุผลสมบูรณ์...   

                   ๑.๕ ความเสียสละ บุคคลในสังคมต้องรู้จัก การให้ และ การรับ บุคคลที่ต้องการจะให้ผื่นอนุเคราะห์อุ้มชู บุคคลนั้นก็ต้องคิดที่จะอนุเคราะห์อุ้มชูผู้อื่นด้วย บุคคลที่ต้องการให้ผู้อื่นไหว้ บุคคลผู้นั้นก็ต้องคิดที่จะไหว้ผู้อื่นด้วย ถ้าในสังคมคิดจะแบมือย่างเดียว ไม่คิดจะให้ใคร สังคมนั้นก็มีแต่ความเห็นแก่ตัว และชีวิตของแต่ละคนจะไม่มีความสุข สังคมที่ดีคือ สังคมที่คนในสังคมยอมสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และยอมสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานแง่คิดเกี่ยวกับการเสียสละที่สำคัญประการหนึ่งคือ การเสียสละความคิด โดยทรงเสนอมุมมอง ๒ ประการคือ ...สละความคิด..เท่ากับไปสร้างให้คนอื่นมีความคิด แล้วก็ทำให้คนอื่นมีงานทำได้ดีขึ้น ก็เป็นการทำให้มีความคิดที่แข็งแรงขึ้น...แต่สละในทางความคิดนั้นก็ยังมีในทางอื่นด้วย... คือสละในจิตใจของตัว บางที่เรามีความคิดอย่างหนึ่งว่าถูกต้อง แต่ว่าไปเผชิญกับปัญหาบางอย่าง ก็ต้องสละความคิดนั้น คือว่าเลิกคิด อันนี้ต้องอาศัยความเสียสละเหมือนกัน เพราะว่าเราคิดอย่างหนึ่งแล้วไปเจอว่าความคิดนั้นอาจไม่ถูกต้อง ความคิดของของคนอื่นดีกว่า เราต้องสละความคิดนั้น...มิฉะนั้น เราเสีย แล้วก็เราเสีย ส่วนรวมก็เสีย ฉะนั้นจุดสำคัญของการสละก็อยู่ตรงนี้ว่า ต้องสละความคิดที่ไม่สร้างสรรค์...
                   ๑.๖ ความมีเหตุผล ในการแก้ปัญหาหรือหาข้อสรุป จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้เสมอ เนื่องจากบุคคลจะมีภูมิหลังของครอบครัว การศึกษาและวิธีคิดที่แตกต่างกัน การใช้อารมณ์หรือยึดความคิดของตนเป็นใหญ่จะทำให้เกิดความไร้ระเบียบและความรุนแรงได้ง่าย ดังนั้นในสังคมประชาธิปไตย ควรหาข้อยุติในลักษณะของการร่วมกันคิด และร่วมกันอภิปรายโดยใช้ข้อมูลอย่างรอบด้าน มีการพิจารณาเหตุผลของแต่ละฝ่ายด้วยใจเป็นธรรม ข้อเสนอของฝ่ายใดที่มีเหตุผล และมีความเป็นไปได้มากกว่าก็จะถูกนำไปปฎิบัติต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ให้เห็นประโยชน์ของความมีเหตุผล ไว้ว่า ผู้ที่เคร่งคัดตามแบบแผนที่อาศัยเหตุผลแท้และมั่นคง ย่อมทรงตัวให้ตรงอยู่...ไม่มีพลาดพลั้งแต่ถ้าเหตุผลที่นำมาเป็นพื้นฐาน มิใช่เหตุผลที่ถูกที่แท้ หากแต่เป็นเหตุผลตามอารมณ์ตามความลำเอียงและหลงผิดแล้วก็หาเป็นเป็นพื้นฐานที่หนักแน่นมั่งคงมิได้เลย...เปรียบเหมือนคนที่ยืนอยู่บนพื้นดินเลน หรือในเรือที่โคลง ย่อมทรงตัวหรือขยับตัวอย่างเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแสนลำบาก เพราะต้องคอนเลี้ยงตัวมิให้คว่ำอยู่ตลอดเวลา...
การดำรงชีวิตตามวิถีประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้นนอกจากจะทำให้ครอบครัว
ของตนมีความสุขแล้ว ยังจะทำให้สังคมมีความสงบร่มเย็นไม่มุ่งร้ายกัน

          ๒.นัยของการเมืองการบริหาร โดยนัยนี้ ประชาธิปไตยหมายถึง ระบบการเมืองการบริหารที่ประชาชน เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการควบคุมการตรวจสอบ โดยการเลือกตั้งตัวแทนของตนให้เข้าไปทำหน้าที่แทนตนเอง ผ่านทางกระบวนการเลือกตั้ง จากความหมายข้างต้น ประชาธิปไตยมีเนื้อหาที่สำคัญ ๓ ประการ
          ๑.ประชาธิปไตยของประชาชน ซึ่งหมายถึงความเป็นเจ้าของ อันได้แก่
                   ๑.๑ ประชาชนสามารถทำให้รัฐบาล ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของตนได้ สามารถนำเนินการเพื่อให้มีรัฐบาลที่เป็นไปตามเจตจำนงของตนได้ รวมทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาลให้เป็นไปตามที่ตนต้องการได้ เช่น การเลือกตั้ง การทำประชามติ การทำประชาพิจารณ์ การแสดงออกตามสื่อต่าง ๆ เป็นต้น
                   ๑.๒ ความรักและความหวงแหนในการเมืองและการบริหารตามระบบประชาธิปไตยโดยการติดตามและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลการถือว่าการบริหารบ้านเมืองเป็น ธุระของตนไม่บอกปัดโดยใช้คำว่า ธุระไม่ใช่ และผลักให้ไปเป็น ธุระของรัฐบาล
          ๒ ประชาธิปไตยโดยประชาชน ซึ่งจะหมายถึง กระบวนการ อันได้แก่ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ อันได้แก่
                   ๒.๑ การเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง ได้แก่ การเข้าไปประชุมพร้อมกันทั้งหมด เพื่อตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญต่อบ้านเมืองหรือท้องถิ่นของตน สำหรับวิธีการที่สามารถนำมาใช้ในการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงคือ การออกเสียงประชามติ ซึ่งประเทศไทยสามารถนำวิธีการนี้มาใช้กับกิจการในท้องถิ่น เพราะจะมีประชาชนจำนวนน้อย และประชาชนมีวัฒนธรรมประเพณีที่คล้ายคลึงกัน รวมทั้งมีมาตรฐานการครองชีพที่ไม่แตกต่างกันมาก
                   ๒.๒ การเข้าไปมีส่วนร่วมโดยอ้อม หรือประชาธิปไตยแบบตัวแทน ได้แก่ การเลือกตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศแทนตนเอง ลักษณะสำคัญของประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีดังนี้
                   (๑) มีพรรคการเมืองเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก
                   (๒) มีการเลือกตั้ง
                   (๓) มีการใช้สิทธิออกเสียงโดยประชาชน
                   (๔) มีรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของผู้แทนราษฎรในสภาเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ และมีฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
          ๓.ประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ซึ่งจะหมายถึง เป้าหมายหรือประโยชน์ที่จะได้รับ กล่าวคือรัฐบาลที่เข้าไปบริหารประเทศ ต้องมีเป้าหมายเพื่อความผาสุกของประชาชน และสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ประเทศไทย โดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ใช้เข้าไปเพื่อกอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง...
                   ที่มา : หน้าที่ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                                                 คณะกรรมการเลือกตั้ง