วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา112?


      
        ประเด็นร้อนแรงที่มีกลุ่มนักวิชาการบางกลุ่ม พยายามที่จะให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นมาตราเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้พบบทความที่น่าสนใจ จากผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมาย จึงอยากนำมาเสนอ ดังนี้      
       การยกเลิกมาตรา 112  มีผลทำให้ประมุขของรัฐซึ่งถูกจำกัดสิทธิที่จะคุ้มครองตนเองโดยฐานะของตนในทางพฤตินัยไม่ได้รับความคุ้มครองและเสียสิทธิที่จะปกป้องตนเองในทางนิตินัยไปพร้อมกันด้วย
         ผู้เขียนเป็นนักเรียนโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย รุ่นแรก จบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยรับราชการเป็นผู้พิพากษาและเป็นอาจารย์พิเศษสอนในมหาวิทยาลัย ปัจจุบันยังคงทำงานด้านกฎหมายอยู่ ผู้เขียนเคยได้รับทุนฟูลไบรท์ไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มรูปแบบของโลก เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาถกเถียงกันอยู่ว่าประเทศไทยควรจะมีกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ ? ซึ่งผู้เขียนขอแสดงความเห็นในด้านกฎหมายเพื่อประกอบการพิจารณาของท่านทั้งหลายไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ประเทศไทยกำหนดห้ามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และห้ามหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาไว้ในมาตรา 326 ความว่า

" มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี "

" มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "

ข้อแตกต่างของความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กับบุคคลธรรมดาประการแรกก็คือ มาตรา 112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งหมายความว่ารัฐเป็นผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องดำเนินการกับผู้กระทำความผิด ส่วนมาตรา 326 เป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัวซึ่งถ้าไม่มีผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่ดำเนินคดีให้ เหตุที่บัญญัติไว้แตกต่างกันเช่นนี้เพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่ประมุขของรัฐจะไปฟ้องร้องกล่าวโทษพลเมืองของตนเอง หากยกเลิกมาตรา 112 ก็เท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิประมุขแห่งรัฐไม่ให้สามารถคุ้มครองตนเองจากการถูกหมิ่นประมาทได้

ยิ่งกว่านั้นการ " หมิ่นประมาท " หมายความว่า ใส่ความโดยไม่เป็นความจริงในลักษณะที่ทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังเกลียดชังผู้ถูกใส่ความซึ่งเป็นการกระทำอันชั่วร้ายผิดศีลธรรม การยกเลิกมาตรา 112 มีผลทำให้ประมุขของรัฐซึ่งถูกจำกัดสิทธิที่จะคุ้มครองตนเองโดยฐานะของตนในทางพฤตินัยไม่ได้รับความคุ้มครองและเสียสิทธิที่จะปกป้องตนเองในทางนิตินัยไปพร้อมกันด้วย

ข้อ 2.กฎหมายอาญาของไทยเป็นกฎหมายที่มีความเป็นสากล กล่าวคือ ให้ความคุ้มครองประมุขของรัฐต่างประเทศและผู้แทนของรัฐต่างประเทศด้วยดังจะเห็นได้จากมาตรา 133 และ มาตรา 134 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

" มาตรา 133 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปีหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "

" มาตรา 134 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "

ถ้ายกเลิกมาตรา 112 ผลตามกฎหมายก็คือ ประเทศไทยให้ความคุ้มครองประมุขแห่งรัฐต่างประเทศแต่ไม่คุ้มครองประมุขของตนเองซึ่งเป็นเรื่องผิดวิสัยของอารยประเทศอย่างยิ่ง หากจะยกเลิกมาตรา 133 และมาตรา 134 ไปพร้อมกับมาตรา 112 ผลก็คือประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศป่าเถื่อนในสายตาสังคมโลกและไม่มีประเทศที่เจริญแล้วประเทศใดในโลกคบค้าสมาคมด้วย เพราะไม่ให้เกียรติแก่ประมุขของเขาซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศสูงสุดของประเทศเหล่านั้น

ข้อ 3. ในสังคมระหว่างประเทศมีหลักในการอยู่ร่วมกันข้อหนึ่งคือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน ( Reciprocity ) กฎหมายของประเทศที่เจริญแล้วในโลกไม่ว่าจะมีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์ หรือประธานาธิบดี หรือเรียกชื่ออื่นใดก็ตาม ย่อมถือว่าประมุขของประเทศใดเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของประเทศนั้น แต่ละประเทศจะให้ความคุ้มครองสูงสุดแก่ประมุขของตนและให้ความคุ้มครองแก่ประมุขของประเทศอื่น เพื่อประเทศอื่นจะได้ให้ความคุ้มครองแก่ประมุขของตนเองด้วยแล้ว ย่อมมีผลทำให้ประเทศไทยต่ำต้อยกว่าประเทศอื่นใดในสายตาชาวโลก

ข้อ 4. ประมุขของประเทศใดก็ตามย่อมถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของประเทศนั้นหากประมุขของประเทศใดไร้เกียรติพลเมืองของประเทศนั้นย่อมต่ำต้อยไร้ค่ากว่าพลเมืองของประเทศอื่นในโลก ถ้าคนไทยยังรักที่จะเป็นคนที่มีเกียรติก็จะต้องรักษาเกียรติยศแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศไว้สูงสุดจึงจะทำให้คนไทยมีเกียรติเหมือนพลเมืองชาติอื่นในโลก

ข้อ 5. ประมุขของแต่ละประเทศทั้งที่ได้รับการเลือกตั้งหรือโดยการแต่งตั้งล้วนแต่เป็นผู้ที่ถูกคัดเลือกขึ้นเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ ขวัญและกำลังใจของประเทศนั้นๆ ความภาคภูมิใจของพลเมืองในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นก็คือ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขได้รับการคัดเลือกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ( Supernatural ) ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการและประกอบคุณงามความดีมาก่อน สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติจึงคัดเลือกให้มาเป็นประมุข
การแก้ไขกฎหมายใดๆ โดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบทั้งภายในประเทศและในสังคมระหว่างประเทศ รวมทั้งโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรมอาจทำให้บรรลุเป้าหมายด้านผลประโยชน์ของบุคคลบางคนบางกลุ่มแต่ก่อให้เกิดความหายนะใหญ่หลวงแก่ประชาชนส่วนใหญ่และประเทศชาติ
ขวัญชัย รัตนไชย
7/12/2011

          ได้นำบทความพิเศษของหนังสือพิมพ์ แนวหน้า มานำเสนอท่ามกลางความพยายามของบางกลุ่มที่ต้องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทย ที่ยึดถือกันมายาวนานนั้น ก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะไปมองเปรียบเทียบกับประเทศอื่นเราจะต้องมองไปถึงภูมิหลัง ว่าแต่ละประเทศมีวิวัฒนาการในการปกครองมาอย่างไร จะอ้่างเอาว่า ประเทศโน้น ประเทศนี้ เป็นต้นแบบในการปกครองประชาธิปไตย แล้วรากเหง้าของเขาเป็นอย่างไร รู้หรือไม่ มันจะกลายเป็นลัทธิเอาอย่าง ประวัติศาสตร์ของการสร้างชาติไทยที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำในการสร้างบ้านสร้างเมืองมาโดยตลอด ทรงเป็นผู้บัญชาการรบด้วยพระองค์เองในฐานะเป็นจอมทัพ โดยมีเหล่าทหารหาญทั้งหลายร่วมออกศึก เพืิ่อป้องกันประเทศอันเป็นที่รักยิ่ง ให้พ้นจากภัยรุกรานของศัตรู จากสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี จนมาถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์
         ปัญหาการเมืองที่เกิดอยู่ในขณะนี้สิ่งที่ประชาชนต้องมองเป็นพิเศษคือ นักการเมือง(โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนที่เข้ามาเล่นการเมือง)ที่พยายามแย่งชิงการได้มาซึ่งอำนาจ และผลประโยชน์ มีความพยายามแยกประชาชนให้เป็นฝักเป็นฝ่าย สิ่งใดที่เห็นว่าขัดหรือแย้งต่อสิ่งที่ต้องการ ก็พยายามที่จะทำใหม่ เปลี่ยนแปลงให้เอื้อกับกลุ่มของตน โดยคือเอาว่า ผู้ชนะถือผู้เขียนกติกา แค่นี้….โดยไม่คำนึงถึงความหายนะที่จะเกิดขึ้นต่อบ้านเกิด เมืองนอน และคำนึงถึงความเป็นมาในรากเหง้าของตนเอง

             ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่จะแก้ หรือยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประชาชนควรหันมาแก้ปัญหาที่ตัวนักการเมืองซึ่งพยายามที่จะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในบ้านในเมืองนี้ ปัญหาที่เกิดอยู่ในปัจจุบันนี้ เกิดเพราะ ตัวนักการเมือง บางส่วนที่ขาดสำนึกในบุญคุณแผ่นดินถิ่นเกิด ขาดสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่องค์พระมหากษัตริย์มีต่อชาติบ้านเมือง มุ่งผลประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ ไม่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์...แต่อย่างใด
                                                                   อภิชาติ ศรีภาค์
                                                                       10/02/2012

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ



                        การสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นแนวคิดที่มุ่งให้ผู้เรียนได้มีบทบาท มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้โดยการลงมือกระทำ ปฏิบัติ แก้ปัญหา หรือศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองโดยยึดความสนใจ ความสามารถ ของผู้เรียนเป็นสำคัญ และสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเอง และนำความรู้ไปใช้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ได้ ตลอดจนเน้น กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้เรียน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง ผู้เรียนจะเรียนอย่างมีความสุข และผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มีอารมณ์แจ่มใสขณะที่ร่วมกิจกรรม
          จุดมุ่งหมายของการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
                   ๑.ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น
                   ๒.ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถต่าง ๆ ตามความสามารถของตน
                   ๓.ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือกระทำ ปฏิบัติหรือศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
                   ๔.ผู้เรียนได้เรียนตามความสนใจความสามารถของตนเอง
                   ๕.ผู้เรียนได้เชื่อมโยงการเรียนรู้กับสภาพชีวิตประจำวัน
                   ๖.ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้กับเพื่อน ๆ

                   สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดกรอบแนวทางในการติดตามและประเมินผล การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ดังนี้
                   ๑ แผนการสอน
                             ๑.มีคำอธิบายคุณภาพเป็นลักษณะการแสดงออกเป็นระดับคุณภาพชัดเจน
                             ๒.มีการกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้นำสู่คุณภาพได้จริง
                             ๓.มีกิจกรรมที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการวางแผน
                             ๔.มีคำถามที่ให้เกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายได้จริง เน้นการคิดและสร้างองค์ความรู้
                             ๕.มีวิธีการประเมินผลตามระดับคุณภาพตามสภาพจริง
                             ๖.มีการวิจัยค้นคว้าเพื่อเพิ่มคุณภาพของแผนงานอย่างต่อเนื่อง
                   ๒.การปฏิบัติการสอน
                             ๑.ครูจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริงตามเงื่อนไขของผู้เรียน
                             ๒.นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้
                             ๓.ผู้เรียนได้ลงมือทำกิจกรรมตามระดับความสามารถหรือเลือกตามความสามารถ
                             ๔.ผู้สอนแนะนำแหล่งข้อมูลเนื้อหาสาระเพิ่มเติม
                             ๕.ผู้เรียนร่วมกันคิดวิเคราะห์ ได้กระบวนการคิดในแต่ละกิจกรรมการเรียนรู้
                             ๖.ครูมีข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อปรับกิจกรรมได้เหมาะสม
                             ๗.ครูประเมินผลโดยใช้ระดับคุณภาพตามร่องรอยหรือผลงานของนักเรียน
                             ๘.มีอุปกรณ์เหมาะสมกับการเรียนรู้และระดับความสามารถของผู้เรียน
                             ๙.มีการเก็บร่องรอยบันทึกระหว่างสอนทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นและ
ผลที่เป็นการ แสดงของผู้เรียน

                   ๓.การรวบรวมผล
                             ๑.มีการนำเสนอผลการเรียนตามระดับคุณภาพ และแสดงคุณภาพที่เพิ่มขึ้นของนักเรียน
                             ๒.ใช้ข้อมูลจริง ผลงานจริงในการประเมิน
                             ๓.มีการวิพากย์ร่วมกันระหว่างผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน
                             ๔.มีการนำผลงานของนักเรียนมาแสดง
                             ๕.มีการจัดเก็บผลงานนักเรียนเป็นระบบ
                   ๔.การบริหารจัดการ
                             ๑.มีการจัดทำวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนร่วมกันทั้งโรงเรียน
                             ๒.มีการกำหนดเป้าหมายคุณภาพผู้เรียนชัดเจน
                             ๓.มีการสนับสนุน ส่งเสริมแหล่งข้อมูล แหล่งการเรียนรู้
                             ๔.มีการร่วมกันประเมินความคุ้มค่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
                             ๕.มีการสรุปสภาพการปฏิบัติงานเป็นระบบ เพื่อสะสมองค์ความรู้
                             ๖.มีการเพิ่มพูนความรู้เป็นวิชาชีพอย่างกว้างขวาง

                   การเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญหลัก ๆ ก็เพื่อที่จะให้ครูได้เรียนรู้เด็กที่ทำการสอน ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านพัฒนาการ สติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคม ของผู้เรียน การที่ครูและเด็กได้วางแผนการเรียนรู้ร่วมกันจะทำให้ช่องว่างระหว่างวัยน้อยลง ครูเข้าใจเด็กมากขึ้น เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จะส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนของผู้เรียนและช่วยให้ครูได้พัฒนาการสอนให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น.... รูปแบบการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีอยู่หลากหลาย ซึ่งคุณครูเราสามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน และพัฒนาให้เป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของเราเองได้ครับ...