วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ


                   อุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ ประเทศกัมพูชา ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และมีบางที่นับถือ ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ ในตัวเมืองอุบลราชธานี มีวัดที่สำคัญอยู่หลายวัด ในตอนนี้จะนำเสนอวัดที่มีความสำคัญอีกวัดหนึ่ง
ในตัวเมืองอุบลราชธานี
                   วันใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี สร้างเมื่อ พ.ศ.2322 มีชื่อเดิมว่าวัดใต้เทิง ตามประวัติกล่าวว่า เดิมมีอยู่ 2 วัด คือวัดใต้เทิง และวัดใต้ท่า ต่อมาได้ยุบ 2 วัดมาเป็นวัดเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2545 เรียกว่าวัดใต้เทิง คำว่าเทิง แปลว่าเหนือหรือสูงขึ้นไป ต่อมาคำว่า เทิง หายไป เหลือแต่คำว่าวัดใต้ สิ่งสำคัญในวัดนี้ คือพระอุโบสถสร้างด้วยศิลปะ 3 ชาติ อยู่ในหลังเดียวกัน คือหลังคาเป็นทรงไทย ประยุกต์ ส่วนฐานเป็นศิลปะขอมผสมเวียดนาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่หนัก 1 ตื้อ จึงได้ชื่อว่าวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
                    Wat Tai Phra Yai Ong Tur, Amphoe Muang, An important temple of ubon raychathani,it was built in 1779, Originally there were two temples close by each other,  Wat Tai Terng and Wat Tai Ta, In 2002 they were merged into one under the name of  Wat Tai Terng. The word “Terng” meaning north or above, then disappeared from the name. The main attraction of Wat Tai is its ordination hall, which features a combination of styles from three nations: the roof is of applied Thai art, the best a mix of Khmer and Vietnamese styles. The temple houses a large Buddha image weighing one tuer, an ancient local measuring unit which the name of the temple was derived from.       

              วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ (วัดใต้เทิง) หรือวัดใต้ เป็นวัดราษฎร์ ปัจจุบันมีเจ้าคุณฯพระสิริธรรมวงศาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี (ธรรมยุต) เป็นจ้าอาวาส ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนพรหมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ตั้งวัด 9 ไร่ 40 – 3 – 10 วา ลักษณะพื้นดินราบสูง พื้น 3 ชั้น อยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานี ตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำมูล ทางด้านทิศตะวันออก มีสำนกงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ภาค 2 อุบลราชธานี และโรงเรียนเทศบาลบูรพาอุบล เป็นพื้นที่ติดต่อกับวัด

จารึกหลักที่1
                    การริเริ่มก่อสร้างวัดนั้นไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ซึ่งวัดใต้เทิง ได้จดทะเบียนเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2322 และได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2441 โดยมีท้าวสิทธิสาร กับ เพี้ยเมืองแสนและราษฎร ได้ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอเป็นวิสูงคามสีมา ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ 103/378 (ตราประทับอักษรขอม) ว่า ซึ่งมีพระบรมราชโองการ ประกาศไว้แก่คนทั้งปวงว่า ที่เขตอุโบสถวัดใต้แขวงเมืองอุบลราชธานี โดยยาว 12 วา 1 ศอก กว้าง 7 วา 1 ศอก ท้าวสิสธิสารกับเพี้ยเมืองแสนและราษฎรไก้ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอเป็นวิสุงคามสีมา พระเจ้าทรงยินดีอนุโมทนาอนุญาตแล้ว โปรดให้กรรมการปักคำกำหนดให้ตามประสงค์ ทรงพระราชอุทิศนั้นให้เป็นที่วิสุงคามสีมา ยกเป็นแผนกหนึ่งตากหาก จากพระราชอาณาเขต เป็นที่เศษสำหรับพระสงฆ์มาจากทิศทั้งสี่ ทำสังฆกรรม มีอุโบสถกรรม เป็นต้น ประกาศพระราชมานตั้งแต่ วันที่ 29 พฤศจิกายน รศ.117 พระพุทธศาสนกาล 2441 พรรษา เป็นวันที่ 10976 ในรัชกาลปัจจุบัน

จารึกหลักที่ 2
                เมื่อ พ.ศ.2509-2519 ได้ก่อสร้างโบสถ์และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา งวดที่ 5 ลำดับที่ 49 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอน 196 วันที่ 7 พฤศจิกายน 2522 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2522 กำหนดเขตกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2522
พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ(Phra Yai Ong Tur)
                    พระพุทธประธานในพระอุโบสถวัดใต้ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นเนื้อทองเก้าสัมฤทธิ์ปางวิชัย หน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูง 85 นิ้ว (รวมฐาน) ได้รับการยกย่องมาว่า เป็นพระพุทธรูป ที่งดงามในประเทศไทยและภาคอีสานเป็นพระประธานองค์ศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ตามประวัติในประเทศไทย มีอยู่ 5 องค์ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ครองนครเวียงจันทร์ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เดิมประดิษฐานอยู่บนแท่นพระอุโบสถหลังเก่า ฐานรองรับสูง 70 เซนติเมตร สร้างแบบง่ายๆ ภายหลังอุโบสถหลังเก่าทรุดโทรม พระเจ้าองค์ตื้อจึงอยู่กลางแจ้ง ตากแดด ตากฝน เป็นเวลานานทำให้องค์พระพุทธรูปองค์ตื้อมีรอยแตก เป็นสะเก็ดออกมา ผู้เฒ่าผู้แก่ สมัยปู่ย่าตาทวดได้บอกเล่าสืบต่อกันมาว่า... พระพุทธรูปองค์ตื้อนี้ได้ถูกหุ้มห่อทาปอมพอกเอาไว้พอกด้วยเปลือกไม้ ยางบด ผสมผงอิฐเจ และทองคำ เงิน นาก สัมฤทธิ์ เงิน รางกาชาดซะพอก ให้น้ำเกลี้ยง น้ำชาดผสมทาปอมพอก แล้วลงรักปิดทองที่เข้าเมืองอุบลราชธานี และ เถราจารย์ในสมัยนั้น เพราะเป็นสมบัติล้ำค่าที่ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ ซึ่งองค์พระพุทธรูปเป็นทองแท้สัมฤทธิ์กลัวว่าจะถูกข้าศึกศัตรูขนเอาไป จึงได้ทาปอมพอกปิดเอาไว้ และปล่อยทิ้งเป็นวัดร้างนานถึง 200 ปี

                   ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2507-2508 ครั้งนั้นพระภิกษุสวัสดิ์ ทสฺสนีโย ปัจจุบัน เป็นราชาคณะชั้นราช ที่พระราชธรรมโกศล เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ รูปที่ 13 ปัจจุบันและเป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี (ธ) ได้ทำการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น นำพระภิกษุ-สามเณร ทายก-ทายิกา และชาวบ้านชุมชนใกล้วัด ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2519 เมื่อสร้างฐานแท่นพระพุทธรูปพระประธานเสร็จจึงได้ยกพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อขึ้นประดิษฐานที่แท่นจนถึงปัจจุบันนี้ รวมอายุองค์พระประมาณ 225 ปี(ตื้อ เป็นการนับจำนวนของชาวอีสาน )
                ปัจจุบัน ทางวัดและประชาชนร่วมกันดำเนินการสร้างถาวรวัตถุเพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนที่สนใจร่วมทำบุญได้ที่วัด... และเชิญชวนคุณครู...และนักเรียน นักศึกษา..ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม...






วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

ปัจจัยพื้นฐานกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

       
            สำนักทดสอบทางการศึกษา ได้วิเคราะห์มาตรฐานที่ควรปรับปรุงเร่งด่วน ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้จากผลการทดสอบ O – NET ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดนโยบายยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับชาติ (O - NET) มาตรฐานการเรียนรู้ที่ต่ำมาก ได้แจ้งให้สถานศึกษาทุกแห่งทราบแล้ว ในที่นี้จะนำเสนอเฉพาะในสาระการเรียนรู้หลัก ๕ สาระ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มัธยมศึกษาปีที่ ๖
          สาระการเรียนรู้ภาษาไทย
          มาตรฐานที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วน
                   ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
                   ๑.มาตรฐาน ท.๕.๑ เข้าใจและแสดงความคิดเห็นและ วรรณกรรมไทยอย่างเห็นคุณค่า และนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
                   ๒.มาตรฐาน ท.๒.๑ใช้กระบวนการเขียน เขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ และเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่าง ๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศ และรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ
                   ๓.มาตรฐาน ท.๔.๒ สามารถใช้ภาษาแสวงหาความรู้ เสริมสร้างลักษณะบุคลิกภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับวัฒนธรรม อาชีพ สังคม และชีวิตประจำวัน
                   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
                   มาตรฐาน ท.๔.๑ เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ

          สาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
          มาตรฐานที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วน
                   ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
                   ๑.มาตรฐาน ค. ๖.๔ มีความรู้ความเข้าใจในการเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์และเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่น ๆ ได้
                   ๒.มาตรฐาน ค.๒.๑ เข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการวัด
                   ๓.มาตรฐาน ค.๒.๒ วัดและคาดคะเนขนาดของสิ่งที่ต้องการวัดได้
                   ๔.มาตรฐาน ค.๑.๔ เข้าใจในระบบจำนวนและสามารถนำสมบัติเกี่ยวกับจำนวนไปใช้ได้
                   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
                   ๑.มาตรฐาน ค.๖.๒ มีความสามารถในการให้เหตุผล
                   ๒.มาตรฐาน ค.๖.๕ มีความคิดสร้างสรรค์
                   ๓.มาตรฐาน ค.๖.๔ มีความสามารถในการเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ทางคณิตศาสตร์และเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่นได้
                   ๔.มาตรฐาน ค.๖.๓ มีความสามารถในการสื่อสาร การสื่อสารความหมายทางคณิตศาสตร์ และการนำเสนอ
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
                   ๑.มาตรฐาน ค.๒.๒ วัดและคาดคะเนขนาดของสิ่งที่ต้องการวัดได้
                   ๒.มาตรฐาน ค.๑.๒ เข้าใจถึงผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของจำนวนและความสัมพันธ์ระหว่างการต่าง ๆ และสามารถใช้การดำเนินการในการแก้ปัญหาได้
                   ๓.มาตรฐาน ค.๑.๑ เข้าใจถึงความหลากหลายของการแสดงจำนวนและการใช้จำนวนในชีวิตจริง
                   ๔.มาตรฐาน ค.๕.๑ เข้าใจและใช้วิธีการทางสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลได้
                   ๕.มาตรฐาน ค.๕.๒ ใช้วิธีการทางสถิติและความรู้เกี่ยวกับความน่าจะเป็นในการคาดการณ์อย่างสมเหตุสมผล
นักเรียนที่มีพัฒนาการช้า
สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
          มาตรฐานที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วน
                   ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
                   ๑.มาตรฐาน ว ๑.๑ เข้าใจหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของโครงสร้างและหน้าที่ของระบบต่าง ๆของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กัน มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและดูแลสิ่งมีชีวิต
                   ๒.มาตรฐาน ว ๒.๑ เข้าใจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศ มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์  
                   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
                   ๑.มาตรฐาน ว ๔.๑ เข้าใจธรรมชาติของแรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงโน้มถ่วง และแรงนิวเคลียร์ มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องและมีคุณธรรม
                   ๒.มาตรฐาน ว ๓.๒ เข้าใจหลักการและธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงสถานะของสาร การเกิดสารละลาย การเกิดปฏิกริยาเคมี มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
                   ๓.มาตรฐาน ว ๖.๑ เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวโลกและภายในโลก ความสัมพันธ์ของกระบวนการต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภูมิประเทศและสัณฐานของโลก มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิททยาศาสตร์สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
                   ๔.มาตรฐาน ว ๓.๑ เข้าใจสมบัติของสาร ความสัมพันธ์ระหว่างสมบัติของสารกับโครงสร้างและแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
                   มาตรฐาน ว ๓.๑ เข้าใจสมบัติของสาร ความสัมพันธ์ระหว่างสมบัติของสารกับโครงสร้างและแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
                   ๒.มาตรฐาน ว ๓.๒ เข้าใจหลักการและธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงสถานะของสาร การเกิดสารละลาย การเกิดปฏิกริยาเคมี มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
๓.มาตรฐาน ว ๗.๒ เข้าใจความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศที่นำมาใช้ในการสำรวจ
อวกาศและทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการเกษตรและการสื่อสาร สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างมีคุณธรรมต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
๔.มาตรฐาน ว ๖.๑ เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวโลกและภายในโลก
ความสัมพันธ์ของกระบวนการต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภูมิประเทศและสัณฐานของโลก มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิททยาศาสตร์สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
งานเกษตรในโรงเรียน
สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา
          มาตรฐานที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วน
                   ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
                   มาตรฐาน ส ๕.๒ เข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์วัฒนธรรมและมีจิตสำนึก อนุรักษ์ ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
                   มาตรฐาน ส ๓.๒ เข้าใจระบบ และสถาบันทางเศรษฐกิจต่าง ๆความสัมพันธ์ของระบบเศรษฐกิจและความจำเป็นของการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในสังคมโลก
                   มาตรฐาน ส ๓.๑ เข้าใจและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในการผลิต และการบริโภค การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รวมทั้งเศรษฐกิจอย่างพอเพียง เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ
บูรณาการอาชีพ
                   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
                  มาตรฐาน ส ๓.๑ เข้าใจและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในการผลิต และการ
บริโภค การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รวมทั้งเศรษฐกิจอย่างพอเพียง เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ
                   มาตรฐาน ส ๒.๑ ปฎิบัติตนตามหน้าที่ของการเป็นพลเมืองที่ดี ตามกฎหมาย ประเพณีและวัฒนธรรมไทย ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างสันติสุข    
                   มาตรฐาน ส ๓.๒ เข้าใจระบบ และสถาบันทางเศรษฐกิจต่าง ๆความสัมพันธ์ของ
ระบบเศรษฐกิจและความจำเป็นของการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในสังคมโลก
                   มาตรฐาน ส ๔.๓ เข้าใจความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย มีความภูมิใจและธำรงความเป็นไทย
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
มาตรฐาน ส ๔.๓ เข้าใจความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย มีความ
ภูมิใจและธำรงความเป็นไทย
มาตรฐาน ส ๓.๒ เข้าใจระบบ และสถาบันทางเศรษฐกิจต่าง ๆความสัมพันธ์ของ
ระบบเศรษฐกิจและความจำเป็นของการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในสังคมโลก
มาตรฐาน ส ๒.๒ เข้าใจระบบการเมืองการปกครองในสังคมปัจจุบัน ยึดมั่นศรัทธา
และธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
เยี่ยมห้องเรีียน
          สาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ
          มาตรฐานที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วน
                   ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
                   มาตรฐาน ต ๑.๑ เข้าใจกระบวนการฟังการอ่าน สามารถตีความเรื่องที่ฟังและอ่านจาดสื่อประเภทต่าง ๆ และนำความรู้มาใช้อย่างมีวิจารณญาณ
                   มาตรฐาน ต ๑.๒ มีทักษะในการสื่อสารทางภาษา และเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็น แสดงความรู้สึกโดยใช้เทคโนโลยีและการจัดการที่เหมาะสม เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
                   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
                   มาตรฐาน ต ๓.๑ ใช้ภาษต่างประเทศในการเชื่อมโยงความรู้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาและเปิดโลกทัศน์ของตนเอง
มาตรฐาน ต ๑.๒ มีทักษะในการสื่อสารทางภาษา และเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความ
คิดเห็น แสดงความรู้สึกโดยใช้เทคโนโลยีและการจัดการที่เหมาะสม เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
                   มาตรฐาน ต ๑.๑ เข้าใจกระบวนการฟังการอ่าน สามารถตีความเรื่องที่ฟังและอ่านจาดสื่อประเภทต่าง ๆ และนำความรู้มาใช้อย่างมีวิจารณญาณ
                   มาตรฐาน ต ๔.๒ สามารถใช้ภาษาต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ การทำงาน การประกอบอาชีพ และสร้างความร่วมมือ และการอยู่ร่วมกันในสังคม
                   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
มาตรฐาน ต ๓.๑ ใช้ภาษต่างประเทศในการเชื่อมโยงความรู้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้
อื่น และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาและเปิดโลกทัศน์ของตนเอง
                   มาตรฐาน ต ๔.๒ สามารถใช้ภาษาต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ การทำงาน การประกอบอาชีพ และสร้างความร่วมมือ และการอยู่ร่วมกันในสังคม
มาตรฐาน ต ๒.๒ เข้าใจความหมายและความแตกต่างระหว่างภาษา และวัฒนธรรม
ของเจ้าของภาษากับภาษา และวัฒนธรรมไทย และนำมาใช้อย่างมีวิจารณญาณ
แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเด็ก ๆ
          * ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกันหลายสาระที่เป็นผลทำให้มาตรฐานการเรียนรู้ที่ต่ำ คือ การเชื่อมโยงสาระความรู้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาและเปิดโลกทัศน์ของตนเอง
          การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นปัญหาที่กระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะในการประเมินภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) สมศ. ผลสัมฤทธิ์จะเป็นประเด็นชี้ขาดในการที่จะได้รับการรับรองหรือไม่ การประเมินในรอบที่ ๓ ที่ผ่านมา มีหลายโรงเรียนที่ไม่ผ่านในมาตรฐานดังกล่าว

          การแก้ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องวิเคราะห์ในปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะในส่วนของสถานศึกษาซึ่งเป็นผู้รับผลกระทบหลัก จะต้องวิเคราะห์ผลการสอบของนักเรียนในโรงเรียนหาจุดที่ต่ำที่ทำให้เกิดปัญหา มาตรฐานในสาระการเรียนรู้ใดที่นักเรียนในโรงเรียนไม่ผ่าน ครูผู้สอนได้สอนตามหลักสูตรที่กำหนดหรือไม่ สอนครบหลักสูตรหรือไม่ เด็กนักเรียนที่มีความบกพร้องในด้านการเรียนได้รับการพัฒนาหรือไม่ งานของคุณครูที่มีภาระนอกเหนือจากการสอนนักเรียน ภายใต้คำพูดที่ว่า "ภารกิจอื่นที่ได้รับมอบหมาย"ทุกอย่างล้วนเป็นประเด็นที่ส่งผลให้กับผลสัมฤทธิ์ทั้งสิ้นนี้คือประเด็นปัญหาที่พบได้ในสถานศึกษา
"บ้าน" หนึ่งในปัจจัยพื้นฐาน
          ถ้าออกนอกสถานศึกษา สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องไม่ลืมก็คือคนเราทุกคนต้องการปัจจัยจำเป็นในการดำรงชีวิต ปัจจัย ๔ เป็นสิ่งหนึ่งที่เด็กทุกคนต้องการ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย รวมทั้งยารักษาโรค ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งมันไม่เพียงพอ เด็กหรือผู้ปกครองที่ไหนจะมีกำลังใจส่งบุตรหลานให้เข้าเรียนหรือให้ไปเรียนได้ทุกวัน สิ่งเหล่าที่ส่งผลต่อการเรียนของนักเรียนมีนักเรียนหลายคนที่ต้องขาดเรียนเนื่องมาจากต้องช่วยผู้ปกครองทำงาน ทั้งที่ไม่อยากขาดเรียนและผู้ปกครองก็ใช่ว่าจะต้องการให้ขาด แต่ความขาดแคลนมันบังคับ ความขาดแคลนในครอบครัวเป็นสิ่งที่บันทอนความมั่นคงของสถาบันครอบครัว ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อการการเรียนใช่หรือใม่ 
 สภาพนักเรียนและผู้ปกครอง
                  เด็กที่มีปัญหาทางด้านครอบครัวไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ อยู่กับย่ากับยาย หรือผู้ปกครองอื่นที่เป็นแค่ญาติ เคยพบเคยเห็นที่เด็กต้องอาศัยอยู่ด้วยกันแค่พี่น้องสองคนผู้ปกครองต้องไปทำงานต่างถิ่น หรือบางครอบครัวต้องอยู่กันเฉพาะพี่ ๆ น้องๆ เพราะบังเอิญพ่อกับแม่เสียชีวิตทั้งหมด เป็นประเด็นต่อผลการเรียนใช่หรือไม่ เด็กที่มีพัฒนาการทางสมองช้าสืบเนื่องจากการที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง ในท่ามกลางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้า แต่ต่อให้การแพทย์ที่ว่าเจริญก้าวหน้าก็จริง แต่ถ้าเขาเหล่านั้นขาดซึ่งปัจจัยหรือสิ่งที่จะไปซื้อไปใช้เพื่อให้เข้าถึงซึ่งการใช้บริการดังกล่าวให้เจริญแค่ไหนก็ช่วยอะไรไม่ได้  ลูกหลานคนไทยโตขึ้นมาก็เป็นได้แค่กรรมกรผู้ใช้แรงงานให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ให้กับผู้รับเหมาก่อสร้าง อยากถามว่าเราต้องการจะปล่อยให้เหตุการณ์มันเป็นอย่างนี้ต่อไปใช่หรือไม่อย่างไร ประเทศไทยมีนักเรียนมีเยาวชนที่มีปัญหาดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน มีครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์มากน้อยเพียงไร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน และทำอะไรอยู่ และจะช่วยพวกเขาเหล่านี้ได้อย่างไร เราคงไม่ต้องการแค่ของแจก แต่อยากให้แก้ในประเด็นปัญหาเหล่านี้อย่างยั่งยืน
นักเรียนบางคนอาศัยห่างไกลโรงเรียน
          การสอบ PRE - ONET ที่ให้ทุกโรงเรียนดำเนินการสอบเป้าหมายก็เพื่อให้โรงเรียนได้เตรียมความพร้อมก่อนการทดสอบที่จัดจะสอบโดยสำนักทดสอบ โดยให้ทุกสถานศึกษาดำเนินการก่อนที่จะมีการกำหนดให้สถานศึกษาสอบทั่วประเทศสอบ O - NET   ทั้งนี้การสอบ O – NET สถาบันทดสอบกำหนดให้ทุกโรงเรียนสอบพร้อมกันในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เป็นการสอบในระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ และระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ในวันที่ ๒๘ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ 
           นอกจากมีการสอบ O - net แล้วนี้ยังมีการสอบ NT ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ในวันที่ ๘ - ๙ มีนาคม ๒๕๕๕ และ การสอบ LAS ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ในวันที่ ๘ - ๙ มีนาคม ๒๕๕๕ เช่นกัน
ห้องเรียน
           การสอบ PRE – ONET เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคงต้องหันไปศึกษาในประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ได้กล่าวไปแล้ว คือในเรื่องของการศึกษามาตรฐานที่เป็นประเด็นปัญหา  การศึกาาสภาพของผู้เรียนอย่างจริงจังและมีข้อมูลที่่ชัดเจนที่จะให้ความช่วยเหลือหรือบรรเทาความยากไร้ ประเด็นดังกล่าวคงจะแก้ไขไม่ได้ในช่วงสั้น ๆ อย่างแน่นอน ทุกอย่างต้องใช้เวลา สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องรีบเร่งแก้ปัญหาเพียงแค่สถานศึกษาอย่างเดียวก็คงรับไม่ไหวฝากเรียนไปถึงผู้มีอำนาจวาสนา  ที่แวะเวียนเข้ามาเป็นใหญ่เป็นโตเป็นเจ้ากระทรวงได้ช่วยดูแลด้วยครับท่าน...
                                                                 อภิชาติ ศรีภาค์
                                                              ๒๐ มกราคม ๒๕๕๕

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

ครู...ผู้สร้างชาติด้วยการศึกษา

                วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๐ สืบเนื่องจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๘๘ คณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ให้วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น วันครู กำหนดให้เป็นวันหยุด โดยตามพระราชบัญญัติครู ที่ระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษา เรียกว่าคุรุสภา มีหน้าที่ในการควบคุม จรรยา วินัยของครู รักษาผลประโยชน์ของครู ส่งเสริมฐานะ จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวตามสมควร
การเป็นครูนั้นไซร้ไม่ลำบาก
                  แต่สอนดีนั้นยากเป็นนักหนา
                          เพราะต้องใช้ศิลปวิทยา
                          อีกมีความเมตตาอยู่ในใจ
                    งานวันครูนั้นเกิดจากข้อเสนอของ จอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยท่านได้กล่าวในที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างแก่ชีวิตเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรจะมีอีกสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลายเพราะเหตุว่า สำหรับคนทั่วไป วันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณมาทำบุญทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองหารือในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"                    
                                   ครูถูกหาว่าเป็นเช่น...เรือจ้าง
                           แล่นระหว่างสองฟากไม่ไปไหน
                           นักเรียนสิศึกษาก้าวหน้าไป
                           ได้เป็นใหญ่เป็นโตมโหฬาร
                                 ที่เปรียบมาล้าสมัยเห็นได้ชัด
                            เราได้จัดเรือยนต์แพขนาน
                            ทำงานบนหนทางสร้างสะพาน
                            ให้ยอดยานผ่านข้ามแม่น้ำไป
                                 ใครจะข้ามทางเก่า...เราไม่ว่า
                             แต่ทางใหม่มีมาวิชาใหม่
                             วิชาช่างแพขนานนั่นปะไร
                             สะพานใหญ่สามัญมัธยม

                                   เหล่านี้แหละงานครูรู้ไว้เชิด
                             ประโยชน์เกิดแก่ประเทศพิเศษสม
                             ศิษย์ได้ดีครูมีแต่ชื่นชม
                             กล้วยไม้ออกดอกสมเจตนา
                                   มุ่งอบรมบ่มนิสัยให้คนดี
                              ครูเหนื่อยยากนานมีก็ไม่ว่า
                              เจริญรอยบรมบาทศาสดา
                              จะเรียกว่าเรือจ้างได้...อย่างไร
                                                 บทกลอนหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
                   กิจกรรมวันครูประกอบด้วย
                          ๑.กิจกรรมทางศาสนา
                          ๒.พิธีรำลึกถึงบูรพาจารย์ กล่าวปฏิญาณตน กล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
                          ๓.การแข่งขันกีฬาเพื่อสร้างความสามัคคี และงานรื่นเริงในตอนเย็น      
        ประเทศที่มีวันครูแต่ไม่กำหนดเป็นวันหยุด
                             ๑.ประเทศอินเดีย กำหนดในวันที่ ๕ กันยายน
                             ๒.ประเทศมาเลเซีย กำหนดวันที่ ๑๖ พฤษภาคม
                             ๓.ประเทศตุรกี กำหนดวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน
          การรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์นั้น ไม่ใช่จะกำหนดให้กับผู้ที่มีอาชีพครูเท่านั้น ทั้งนี้เพราะว่าเราทุกคนต่างมีครูผู้ให้ความรู้กันทุกคน และทุกอาซีพ ฉะนั้นจึงขอเชิญชวนทุกท่านได้รำลึกถึงพระคุณของครู ผู้สร้างชาติ ด้วยการศึกษา หาใช่เรือจ้างที่ทำหน้าที่แค่ส่งคนข้ามฟาก แต่ผู้ที่ผ่านมือครูไปนั้นแหละที่นำความรู้ นำคุณงามความดีที่ได้รับการสั่งสอนและสั่งสมในตัวแต่ละคน แต่ละท่าน ไปสร้างบ้านสร้างเมืองนี้ให้เจริญรุดหน้าดังที่เห็นกันอยู่...หรือว่าไม่จริง..

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

วันเด็ก : เกิดแต่กรรม?

                                         
                                                  หิวโหย อดโซ แล...อมโรค          
      ไร้โชคต่างลูก..พวกเศรษฐี
                                           เสื้อผ้าที่จะใส่แทบไม่มี                      
                                           พอกันทีกับอนาคตที่มืดมน
                                                   ข้าวกล้ำน้ำกลืนใช่ฝืนอด                    
                                           อนาคตไม่เห็นเหมือนล่องหน
                                           สุนัขบ้านเศรษฐีดีกว่าล้น                   
                                           ความเป็นคนแทบไม่เหลือเมื่อเทียบมัน
                                                                    พิราบแดง                       
                   ความเป็นมา เป็นบทกลอนสะท้อนความแตกต่างของสังคม กล่าวถึงชีวิตเด็กผู้เป็นอนาคตของชาติ ที่มีความแตกต่างกัน ยังมีเด็กที่อดยากหิวโหยในบ้านนี้เมืองนี้ยังมีอีกเยอะ เด็กบางคนบางที่อาจจะไม่ได้กินข้าวเช้าไปโรงเรียน ไปอาศัยอาหารกลางวันที่ทางโรงเรียนจัดให้ เพื่อนครูหลายท่านทราบ...ท่านรู้ดี เมื่อถึง วันเด็ก เด็กก็ได้รับการแสดงออกว่าได้ รับการดูแลเอาใจใส่  แต่ยากให้เรามองเด็กที่มีความแตกต่าง ขาดความสมบูรณ์ในครอบครัวและในชีวิต เด็กที่เที่ยวขอทานตามท้องถนน ขายพวงมาลัยตามฟุตบาท เด็กที่ขาดพ่อ ขาดแม่ ขาดผู้ปกครองดูแล เด็กตามสถานสงเคราะห์ เราดูแลเผื่อแผ่พวกเขามากแค่ไหน เขาได้รับการดูแลจากรัฐเพียงพอแล้วหรือยัง ในเมื่อเขาเป็นคนไทย โตขึ้นมามีสิทธิ มีเสียง ตามระบอบประชาธิปไตย สามารถเลือกท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลายเข้าสู่สภาได้ แล้ว หรือเป็นอริยะบุคคลที่กราบไหว้ได้ แล้วรัฐ...จะมีแนวทางในการดูแลพวกเขาเหล่านี้อย่างไร? ที่เป็นรูปธรรม และยั่งยืน...

             กลอนบทนี้  แต่งเมื่อสมัยที่เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนบ้านห้วยเสลา ตำบลขี้เหล็ก อำเภอน้ำยืนจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้ไปบรรจุเป็นข้าราชการครูที่โรงเรียนนี้เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๒
                        ประมาณปี๒๕๒๗ -  ๒๕๓๐ ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนครูผู้สนใจ จัดทำจุลสาร เสียงครู  กลอนบทนี้ แต่งลงปกหลังของจุลสาร เสียงครู ฉบับปฐมฤกษ์ใช้นามปากกา พิราบแดง เสียงครู ออกโดยกลุ่มโรงเรียนขี้เหล็ก(โรงเรียนในกลุ่มประกอบด้วย โรงเรียนบ้านขี้เหล็ก,บ้านหนองหัวลิง,บ้านห้วยเสลา,บ้านโนนสว่าง,บ้านอีสานเศรษฐกิจ,บ้านหนองโด,บ้านดอนโมกข์,บ้านไพบูลย์และบ้านหนองดุม) ผู้ที่ทำจุลสารเสียงครูเท่าที่พอจำได้ก็มี อ.ปรีชา  เป็นครูโรงเรียนบ้านหนองหัวลิง อ.ปรีชานำเอา ย่ำทัพสองหมื่นลี้ มาลงในฉบับ อ.อัษฎาวุธ ทองแสง เจ้าของคอลัมน์ ซุบซิบ นามปากกา หนวดแดง 

                   เกิดแต่กรรมที่นำเสนอเป็นหัวเรื่องของบทกลอน เมื่อมาพิจารณาดูในแง่มุมของพระพุทธศาสนาแล้วจะเห็นว่า คนเราทุกคนเกิดมามีกรรมที่แตกต่างกัน ถ้าให้ความหมายของ "กรรม" ว่าการกระทำ นั่นก็หมายความว่า ทำความดี ย่อมได้รับผลดี ทำความชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว กรรมเป็นผู้แยกแยะสัตว์โลก บางคนร่ำรวย บางคนยากจน สูงต่ำ ดำ ขาว พิกล พิการแตกต่างกัน เหล่านี้คือผลที่เกิดจากกรรมใช่หรือไม่ ? แต่หากยากจนแล้วขยันหมั่นเพียร เก็บหอมรอบริบ(ทำกรรมดี) ทำมาหากินละเว้นเสียซึ่งอบายมุขต่าง ๆ โอกาสที่จะเป็นคนมั่งคนมี รำ่รวยก็ยังมี…ขออย่างเดียวเมื่อร่ำรวยเป็นใหญ่เป็นโตแล้วอย่าโกงบ้านกินเมือง ใช้ราษฎรเป็นฐาน...สร้า้งความร้าวฉาน...เพื่อขึ้นสู่อำนาจ ขาดเสียซึ่งสำนึกบุญคุณแห่งแผ่นดินถิ่นเกิด เนรคุณต่อแผ่นดิน ลืมเสียซึ่งบาป บุญ คุณโทษ ผลประโยชน์อย่างเดียว...ถ้าเป็นอย่างนี้อย่าเกิดดีกว่า...เสียชาติที่่เกิดเป็นคน...ใช่ไหมพี่น้อง...